สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 จนมาถึงต้นปี 2564 ได้กระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่า ภาคท่องเที่ยวไทยสามารถที่จะเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งช่วงต้นปีนี้ แต่พอเจอสถานการณ์ดังกล่าว จึงทำให้ทุกอย่างต้องหยุดนิ่ง ไปตามมาตรการของรัฐที่ออกมาเพื่อควบคุมการระบาดซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจำกัดการเดินทาง และจำกัดการรวมตัวกันของคนหมู่มาก กระทบแผนกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งนี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การระบาดของโควิดรอบใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศของ ททท. จากเดิมประเมินว่าในไตรมาสแรกของปี 2564 จะเป็นช่วงฟื้นตัวด้วยเป้าตลาดไทยเที่ยวไทยประมาณ 120 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 7 แสนล้านบาท สืบเนื่องจากตัวเลขช่วงปลายปี 2563 อยู่ที่ 90-95 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งตัวเลขที่ตั้งไว้ก็จะต้องกลับมาประเมินผลกระทบจากโควิดในช่วง 1-2 เดือนแรกของปีนี้ด้วย ซึ่งสถานการณ์ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ มีข้อมูลตัวเลขของอัตราการเข้าพักในโรงแรมปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นกว่า 20% และเป็น 34% ในเดือนตุลาคม จนมาถึงในช่วงสิ้นปีมีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 37.56 % จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ทำให้ตัวเลขรายได้รวมของการท่องเที่ยวไทยในปี 2563 นี้ มีมูลค่ารวมประมาณ 8.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดต่างประเทศราว 3.3 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.7 ล้านคน และตลาดในประเทศ มูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท จากการเดินทางของ นักท่องเที่ยวคนไทยประมาณ 95 ล้านคน-ครั้ง อย่างไรก็ตาม นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า แม้จะมีโควิดระลอกใหม่ แต่ ททท.ยังคาดการณ์รายได้จากภาคการท่องเที่ยวของไทยสำหรับปี 2564 ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท มาจากตลาดต่างประเทศ 5 แสนล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 10 ล้านคน และตลาดไทยเที่ยวไทย 7 แสนล้านบาท จากการเดินทางท่องเที่ยว 120 ล้านคน-ครั้ง โดยทางททท. กำลังวางแผนพลิกฟื้นการท่องเที่ยวของประเทศไทย มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพลดสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลง พร้อม ๆ กับสร้างแบรนด์ของไทยใหม่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วทั้งโลกโดยเฉพาะการทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของโลกต่อไป ด้วยการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อขับเคลื่อนแผนงานอย่างเป็นระบบก้าวไปในทิศทางที่ต้องการ ด้าน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงการทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงผลกระทบจากแนวคิดกรุงเทพมหานครที่มีคำสั่งให้นั่งรับประทานที่ร้านอาหารในเวลาที่กำหนด ว่า จะทำให้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารไทยหายไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และส่งผลกระทบเป็นห่วงลูกโซ่ เนื่องจากร้านอาหารเป็นธุรกิจรายย่อย และเป็นธุรกิจส่วนบุคคลเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นทางภาครัฐควรจะมีมาตรการผ่อนปรนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ ซึ่งล่าสุดได้มีการการขยายเวลาเป็น 21.00 น.จึงน่าจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ยกระดับมาตรการควบคุมเข้มข้นมากขึ้น ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่โควิด-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดใหม่อีกครั้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทางรัฐบาลจึงได้ยกระดับมาตรการควบคุมให้เข้มข้นมากขึ้นพร้อมกันนี้ยังได้กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในหลายจังหวัด ทำให้ประชาชนที่ได้จองที่พักตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปเข้าพักได้ตามกำหนดการเดิมที่ได้จองไว้ จึงได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมโรงแรมไทย และผู้ประกอบการโรงแรมที่พักที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทุกแห่งพิจารณาเลื่อนวันเข้าพักให้กับประชาชนที่ใช้สิทธิตามโครงการฯ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือพิจารณาคืนเงินให้แก่ประชาชน ในกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงการจองดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขของโครงการฯ และจะยังคงจำนวนสิทธิให้กับประชาชนที่ใช้สิทธิดังกล่าวด้วย ในเรื่องนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำลังอยู่ระหว่างพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขยายระยะเวลาของโครงการฯ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 รวมทั้งกำหนดระบบการเลื่อนวันเข้าพักสำหรับประชาชนที่ได้จองโรงแรมที่พักเพื่อเข้าพักตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป โดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะดำเนินการปรับปรุงระบบให้สอดรับกับการดำเนินการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยเร็วต่อไป ในระหว่างนี้ประชาชนที่ได้จองโรงแรมที่พักเพื่อเข้าพักตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีความประสงค์จะเลื่อนการเข้าพักสามารถประสานโรงแรมได้ โดยโรงแรมสามารถรับเรื่องไว้ได้ก่อน และขอให้โรงแรมดำเนินการแจ้งการเลื่อนในระบบต่อไป อย่างไรก็ตาม นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า วันที่ 1 มกราคม 2564 มีผู้ใช้สิทธิการจองห้องพัก ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 5.1 ล้านสิทธิจาก 6 ล้านสิทธิ คิดเป็นมูลค่า 13,634 ล้านบาท แบ่งเป็นการจองผ่านโรงแรม 5,274 แห่ง, มีการใช้จ่ายผ่าน E-Voucher 5,711ล้านบาท และมูลค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน 1,001 ล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20,000 ล้านบาท ส่วนในวันที่ 3 มกราคม 2564 มีผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งรวม 12,050,115 คน แบ่งเป็นเฟสแรก 9,536,644 คน ใช้จ่ายสะสม 52,358 ล้านบาท เฟส 2 เริ่มใช้สิทธิ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 จำนวน 2,513,471 คน ใช้จ่ายสะสม 1,073.60 ล้านบาท รวมยอดการใช้จ่ายสะสม 53,431 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 27,353 ล้านบาท ภาครัฐจ่ายสมทบอีก 26,078 ล้านบาท จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ สงขลา ชลบุรี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 1.1 ล้านร้านค้า