หมู่บ้านยามชายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (จบ) 4.โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านอาโจ้ เป็นหมู่บ้านบริวารของหมู่บ้านปางบอน ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ปายฝั่งขวา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ย 1,000 เมตร มีแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญ ได้แก่ ห้วยสาขาแม่น้ำละนาและแม่น้ำโป่งแสนปิด ราษฎรเป็นชนเผ่ามูเซอแดง(ล่าหู่) มีจำนวน 27 ครอบครัว 96 คน ได้รับสัญชาติไทย 91 คน สถานะบุคคลพื้นที่สูง 1 คน ไม่มีสถานะทางทะเบียน 4 คน 5.โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านดอยผักกูด เป็นหมู่บ้านบริวารของหมู่บ้านผีลูตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนมีที่ราบระหว่างหุบเขาสองฝั่งลำห้วย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ย 1,400 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ราษฎรเป็นชนเผ่ามูเซอแดง(ล่าหู่) มีจำนวน 13 ครอบครัว 47 คน ได้รับสัญชาติไทย 37 คน ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน 10 คน การดำเนินงานในระยะแรก ได้จัดตั้งหมู่บ้าน ก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่สมัครใจเข้าร่วมไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่โครงการ จำนวน 30 หลัง โดยจัดสรรพื้นที่ครอบครัวละประมาณ 1 ไร่ สำหรับปลูกผักสวนครัวเพื่อบริโภคในครัวเรือน มีพื้นที่ส่วนกลางเป็นลักษณะแปลงรวมสำหรับปลูกข้าวและพืชไร่ชนิดต่างๆ เพื่อนำผลผลิตมาบริโภค ส่งเสริมราษฎรมีการประกอบอาชีพในลักษณะเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้ตนเองมีศักยภาพเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี พื้นที่โดยรอบบ้านส่งเสริมให้ราษฎรปลูกพืชยืนต้น พืชสมุนไพรเพื่อเป็นอาหารและยา ในลักษณะธนาคารอาหารชุมชน และได้ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในครอบครัวเพื่อเป็นอาหารโปรตีนโดยไม่พึ่งพาตลาดเลี้ยงสุกร ไก่ และปลาดุกไว้เป็นอาหารในครัวเรือนให้ความรู้ในการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพเพื่อลดการใช้สารเคมี ตลอดจนส่งเสริมการเลี้ยงโคและกระบือเพื่อใช้เป็นแรงงานด้านการเกษตร รูปแบบหมู่บ้านยามชายแดน จัดเรือนลักษณะสันโดษ สมถะ เรียบง่าย กระจายอยู่ตามพื้นที่ป่าธรรมชาติ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่า จากนั้นได้ทำการคัดเลือกราษฎรอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยได้มีการวางแผนร่วมกับหน่วยกำลังรบเพื่อวางกลุ่มบ้านให้เกื้อกูลต่อการปฏิบัติการทางทหาร สามารถสังเกตการณ์ตามช่องทางแทรกซึมของข้าศึก มีการติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทผ่านดาวเทียม รวมถึงการติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยและหอกระจายข่าวภายในหมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและแจ้งเตือนภัย มีการฝึกอบรมราษฎรในการรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน การรายงานข่าวสารเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ ทำหน้าที่เป็นยามชายแดน นอกจากนั้นยังสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดยให้ราษฎรทำประชาคมร่วมกันเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงปลูกจิตสำนึกในความเป็นไทยโดยรณรงค์การใช้ภาษาไทย ทั้งการพูด การอ่าน และการเขียน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหมู่บ้าน ได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจร ระบบประปา ภูเขา ก่อสร้างฝายต้นน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคและบริโภคเสริมด้วยฝายชะลอความชุ่มชื้นเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้ราษฎรยึดถือดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การอนุรักษ์ดินและน้ำ การส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างถูกวิธี นำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าอย่างยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้จัดตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนหรือกระต๊อบยาเพื่อบริการด้านการแพทย์ในเบื้องต้น ด้านการศึกษา ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการประถมศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ จัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ประจำหมู่บ้าน และจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อไป มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพเข้ามาสนับสนุนอาชีพและสร้างอาชีพเสริม เกิดการรวมกลุ่มอาชีพ ซึ่งกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านมะโอโคะ ได้รวมตัวกันทอผ้าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เลื่องชื่อของจังหวัดตาก ทุกวันนี้ เด็ก ผู้หญิง ชายฉกรรจ์ หรือคนชรา บนเทือกเขาสูงตอนเหนือของประเทศไทย ต่างทำหน้าที่สำคัญในการปกป้องประเทศ เป็นยามตามแนวชายแดน หมู่บ้านยามชายแดนจึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เป็นกำลังสำคัญของงานด้านความมั่นคงของหน่วยราชการ แม้คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งจะยังประสบปัญหาการไร้สัญชาติ แต่กระนั้นพวกเขายังคงปฏิบัติหน้าที่นี้ด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดินไทย สนองตอบพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9อย่างไม่เคยย่อท้อ นางสาวใบทิพย์ ศรีทองสุข กองประสานงานโครงการพื้นที่ 3 สำนักงานกปร.