ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง นานทีจะนำพาเรื่องกับข้าวปลาอาหารกันสักมื้อนึง ส่วนจะเป็นอาหารไทยหน้าตาอย่างไทยทุกวันนี้หรือไม่นั้นมิแน่ใจ เพราะอาหารที่ตั้งวางบนโต๊ะกับข้าวหรือตามร้านอาหารสั่งกินกันนั้นดูจะเป็นลักษณะลูกผสมทางชาติพันธุ์ และท้องถิ่น ที่คนไทยมีนิสัยช่างประดิษฐ์ประดอยปรุงแต่ง กลมกล่อม จัดจ้าน ให้เข้ากับลิ้นรสชาติปากตนเอง ส่วนพื้นที่นี้จะพาไปรู้จักคร่าหน้าคร่าตา “อาหารที่หารับประทานได้ยากและใกล้สูญหาย” ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมนำมาจัดแสดงนิทรรศการตามชื่อข้างต้น ในเทศกาลกรุงเทพฯ เมืองอาหารอร่อย พร้อมข้อมูลสังเขป ยกมาเป็นตัวอย่างสักหกรายการ ตามรูปกันเลย เริ่มที่ “ม้าฮ่อ” อาหารเชื้อสายมอญ ของกินว่างมาแต่โบราณ อาหารชนิดนี้จะพบได้ในเทศกาลงานบุญและในพิธีต่างๆ ตามความเชื่อของท้องถิ่นโดยเฉพาะชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญ เป็นการนำผลไม้รสเปรี้ยวจัด เช่น สับปะรด มาหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ โรยด้วยไส้คล้ายกับสาคูไส้หมู ไส้ที่ว่านี้เปรียบเสมือนพริกเกลือในปัจจุบันที่เอาไว้ทานกับผลไม้รสเปรี้ยว ซึ่งเป็นศิลปะการสร้างสรรค์อาหารอย่างหนึ่ง ทำให้ทานผลไม้รสเปรี้ยวได้ในปริมาณมาก รสชาตอร่อยขึ้น “พระรามลงสรง” เป็นอาหารจีนโบราณที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี ประกอบด้วยข้าวสวยหุง แล้วโปะหน้าด้วยผักบุ้งลวกสุก และเนื้อหมูลวกหั่นชิ้น จากนั้นราดด้วยน้ำคล้ายคลึงน้ำสะเต๊ะ แต่ไม่ใช่ตัวเดียวกัน รสชาติของน้ำราดพระรามลงสรงนั้นจะมีรสชาติกลมกล่อม หอมมันลงตัว ใส่น้ำพริกเผา และบีบน้ำมะนาวลงไปเป็นลำดับสุดท้าย ก็จะได้พระรามลงสรง “แกงลูกกล้วย” เป็นแกงกะทิแบบชาวใต้ที่ใส่กล้วยเล็บมือนาง หรือกล้วยน้ำว้าดิบ และเพิ่มเนื้อสัตว์ อย่างเนื้อไก่ หรือเนื้อหมูลงไป ส่วนเครื่องแกง มีส่วนผสมของสมุนไพรจำพวก ขมิ้นหรือข่า ตะไคร้ พริกขี้หนูแห้ง พริกไทยดำ และใบมะกรูด ออกมาเป็นแกงลูกกล้วย “แกงรัญจวน” เมนูอาหารชาววัง ประยุกต์จากเนื้อที่เหลือในแต่ละวัน เพราะในสมัยก่อน เจ้านายพระองค์ต่างๆ จะเสวยพระกระยาหารแต่น้อย ทำให้เนื้อเหลือเยอะ แล้วนำมาปรุงแต่งรสเป็นรสแกงสูตรใหม่นี้ โดยเพิ่มน้ำพริกกะปิรสจัด ทั้งเปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวาน ลงไปปรุงพร้อมใบโหระพา และพริกชี้ฟ้าแดงหั่นซอย จึงทำให้แกงสูตรใหม่นี้มีกลิ่นหอมรัญจวน ชวนให้หิวเป็นอย่างยิ่ง “ยำทวาย” เป็นยำที่มีรสชาติออกเปรี้ยว รสหวานไม่จัด มีผักหลายชนิด เช่น ผักบุ้งไทยซอย ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ถั่วแขก หัวปลี นำมาลวกในน้ำร้อนหรือหางกะทิ ผมกับเนื้อไก่ฉีก ราดด้วยน้ำยำ ที่มีส่วนผสมเครื่องแกง เนื้อปลาสลิดทอดแกะเนื้อที่โขลกละเอียดแล้ว เวลารับประทานโรยด้วยหอมเจียวปิดท้าย จะได้ยำทวาย ปิดท้ายรายการด้วย “หมูโสร่ง” เมนูที่ต้องใช้ความใจเย็นและพิถีพิถันค่อนข้างมาก เพราะใช้เนื้อหมูสับบดละเอียด ปรุงรสด้วยเครื่องเทศ เพิ่มความหอมได้ตามใจชอบ นำมาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดประมาณหัวนิ้วโป้ง พันด้วยเส้นหมี่ซั่ว แล้วนำลงกะทอดจนเส้นกรอบ ชวนน่ารับประทานยิ่งนัก ร่ายรายการอาหารตัวอย่างมาจนอยากชิมของจริงเสียแล้ว ซึ่งท่านสามารถลิ้มรสชาติอาหารที่ว่านี้และอีกหลายเมนู เช่น แสร้งว่า เนื้อเค็มกะทิแบบโบราณ รวมถึงขนมดอกดิน ขนมเหนียว ฯลฯ หากินได้ยากและใกล้สูญหายได้ในเทศกาลกรุงเทพฯ เมืองอาหารอร่อย ระหว่างวันที่ 2 – 5 ก.ย. 59 ที่พารากอน นอกจากนี้ ได้ยกร้านอาหารอร่อยยอดนิยมในกรุงเทพฯ กว่า 40 ร้านจากย่านตลาดพลู บางรัก วังหลัง รวมทั้งอาหารที่ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญา อาหารชาววังและนานาชาติมาออกร้าน และปักหมุดธงร้านอาหารทั่วกรุงเทพฯ กว่า 500 ร้าน เสิร์ฟให้คนไทยและนักท่องเที่ยวได้สรรหาร้านชิมกัน ให้สมกับกรุงเทพฯ เมืองอาหารอร่อยกันทีเดียว