สืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรชาวไทย ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง การพัฒนาจิตใจของคนในชาติให้มีคุณธรรมและจริยธรรม การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรและเกษตรกร การศึกษา และการพัฒนาทักษะด้านศิลปะ วิชาชีพ ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานเนื่องในโอกาสต่างๆ “...คนที่ไร้ที่อยู่ที่ทำกินก็ต้องรู้สึกว่า พวกที่ต้องการรักษาป่าคือศัตรูขัดขวางความสุข ของเขา ฉะนั้น ป่าก็เป็นที่ต้องห้าม ขัดประโยชน์ของ พวกที่ไร้ที่ดิน ทางเลือกทางเดียว คือทำให้ป่าที่อยู่ เป็นทางหากินของพวกเขา โดยมีคนของทางราชการช่วยจัดและดูแลผลประโยชน์ ของพวกไร้ที่อยู่ และผลที่เลิศของส่วนรวม คือ ”น้ำ” ซึ่งจำเป็นต่อชีวิตที่สุด...” พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 เกี่ยวกับความจำเป็นของทรัพยากรน้ำ พระราชทานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2525 “...หลายสิบปีก่อนนี้ เสด็จฯไปเยี่ยมประชาชนทุกภาคของประเทศ ทรงขับรถเอง หนทางก็เรียกว่า กันดารไม่ใช่น้อย บางครั้งก็ทรงขับรถข้ามแม่น้ำ นี่เป็นจังหวัดนราธิวาส ทรงขับรถเพื่อไปดูให้เห็นจริงจัง ถึงการอยู่กินของราษฎรตามเขตชายแดนต่างๆ แต่พระองค์ท่านก็ยังทรงติดตามงานต่างๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องฝน เรื่องปริมาณน้ำในเขื่อน ทรงห่วงประชาชนมาก เกรงว่าจะมีน้ำท่วมอีก ถ้าพอจะหาแนวทางอะไรช่วยป้องกันได้ ก็จะมีพระราชดำริให้เตรียมการกันเอาไว้ก่อน ประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกของชาวนาชาวไร่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตของชลประทาน ก็ต้องพึ่งพาอาศัยฝนฟ้าจากธรรมชาติเป็นหลัก ปีใดฝนดีผลผลิตก็ดี ปีใดฝนแล้งพืชก็แห้งตาย ฝนมากไปน้ำก็ท่วม ปัญหาของแต่ละภาคไม่เหมือนกัน ภาคเหนือเป็นดอยสูงสลับซับซ้อน มีชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ ดั้งเดิมเขาปลูกฝิ่น เพราะเขาบอกเขาไม่รู้จะทำมาหากินอะไร หรือบางครั้งก็ทำไร่เลื่อนลอย ทำให้เกิดปัญหายาเสพติด และป่าไม้ถูกทำลาย บางครั้งชาวเขาเขาก็กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เอง ว่า เมื่อพ่อบอกว่าปลูกฝิ่นไม่ดี เขาจะทำตาม ก็จะเลิกปลูกฝิ่น จะทำการเพาะปลูกอย่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งผู้เชี่ยวชาญไปสอนเขา แต่เขาพูดว่า ขออนุญาตพ่อได้ไหมให้มีที่ปลูกฝิ่นสักนิดหนึ่ง ไม่ใช่อะไรหรอก เวลาปวดฟัน ปวดท้อง มันนานกว่าที่จะลงไปหาหมอที่ข้างล่าง ถ้าเขามีฝิ่น เขาปวดฟันนอนไม่หลับเขาเสพฝิ่นหน่อยเดียวก็ค่อยยังชั่ว พระเจ้าอยู่หัว รับสั่งบอก อนุญาต อนุญาตให้ปลูกฝิ่นได้เล็กน้อย สำหรับแก้เจ็บปวดอะไรเช่นนั้น ส่วนภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ปัญหาใหญ่คือ การขาดแคลนน้ำที่จะใช้เพาะปลูก และดินเป็นดินทราย ภาคใต้มีฝนตกชุกแทบทั้งปี แต่เนื่องจากภูมิประเทศมีลักษณะแคบยาว ด้านหนึ่งเป็นภูเขา ด้านหนึ่งเป็นทะเล ที่ราบตรงกลางบางส่วนเป็นพรุไปเสียหลายแสนไร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจอะไรก็ไม่ค่อยได้ เพราะในพรุมีน้ำเปรี้ยวขังอยู่ ถ้าฝนตกมากน้ำเปรี้ยวในพรุไหลล้นออกมา ทำให้ดินข้างนอกเปรี้ยวตาย ถ้าฝนน้อยไปน้ำเค็มจากทะเลซึมเข้ามา กลายเป็นมีน้ำ 3 รสด้วยกัน คือ ทั้งจืด ทั้งเปรี้ยว และทั้งเค็ม ส่วนภาคกลางของเราโชคดี แม้ว่าโชคดีที่มีภูมิประเทศเป็นที่ราบ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากเป็นทางผ่านที่น้ำมาจากภาคเหนือ และไหลลงสู่ทะเล ปีไหนฝนชุกมาก ภาคกลางจะมีน้ำท่วม ซ้ำท่วมแล้วไม่ลดลงเร็วเหมือนภาคอื่น เพราะมีน้ำทะเลหนุน กลายเป็นน้ำท่วมขัง บางพื้นที่ต้องจมน้ำอยู่ตั้งหลายเดือน เช่น บ้านเดิมของข้าพเจ้า บ้านของพ่อแม่ข้าพเจ้าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เทเวศร์ เห็นเป็นประจำที่น้ำท่วมตลอด บางทีท่วมเข้าไปในบ้านด้วยซ้ำไป พื้นเสียหมดเลย น้ำท่วมมีปลา มีงูมาว่ายอยู่ในบ้าน ต้องย่ำน้ำกันในบ้านนั้นเอง เป็นของธรรมดา บัดนี้ก็สมัยใหม่ขึ้น ก็ค่อยยังชั่วขึ้น ข้าพเจ้าเป็นพระราชินีมา 59 ปี ได้ตามเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปเยี่ยมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้ได้เห็นว่าทรงงานอะไร อย่างไร และที่ไหนบ้าง และได้เห็นว่าทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎร จะทรงขับรถเอง และก็มีแผนที่อยู่ใกล้พระองค์เสมอ จะทรงไปทุกหนทุกแห่ง...” พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เกี่ยวกับการทรงงานเยี่ยมเยียนพสกนิกรและการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาการอยู่กินของราษฎร เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9ทรงห่วงใยทุกข์สุขของราษฎร โดยเฉพาะในการปรับปรุงและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังพระราชดำรัสพระราชทานในพิธีเปิดการประชุมและนิทรรศการเรื่อง มรดกสิ่งทอของเอเชีย : หัตถกรรมและอุตสาหกรรม ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 ความตอนหนึ่งว่า “...ข้าพเจ้าตั้งใจจะสรรหาอาชีพให้ชาวนาที่ยากจนเลี้ยงตัวเองได้เป็นเบื้องต้น ทั้งนี้เนื่องจากข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยี่ยมราษฎรตามชนบทมาหลายสิบปี ได้พบว่าราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ที่ต้องทำงานหนัก ต้องเผชิญอุปสรรคจากภัยธรรมชาติมากมาย...ทำให้ชาวนาชาวไร่มักยากจน การนำสิ่งของไปแจกราษฎรผู้ประสบภัยธรรมชาติ เป็นเพียงบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภว่า เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน ควรจะหาวิธีอื่นที่ช่วยให้ราษฎรพึ่งตนเองได้...” พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 เนื่องในวันเปิดงานแสดงศิลปหัตถกรรม นักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2505 ความตอนหนึ่งว่า "...การส่งเสริมให้เด็กรู้จักประเพณีนิยมของไทยไม่ให้ลืมศิลปะดั้งเดิมของเรานั้นเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่งนัก..." สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อพสกนิกรชาวไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ นับเป็นโชคดีของพสกนิกรชาวไทยที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมี ในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาขอราชทานพระราชานุญาตอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก คุ้มครองให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ สถิตเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยต่ลอดไป ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม