เฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหามหาราชินี ขอถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9 วันที่ 12 สิงหาคม 2560 หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายพระพรชัยมงคล เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลดังกล่าวโดยขอนำเอาบทรายงานจากวารสารพระราชดำริ สำนักงานกปร. โดยท่านพลเอก นพดล วรรธโนทัย ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ สำนักราชเลขาธิการที่ได้เรียบเรียงพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ที่เกิดพระมหากรุณากรุณาธิคุณ พระเมตตาคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 ด้วยเพราะทรงห่วงใยราษฎรและด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่ทรงบำบัดทุกข์ยังประโยชน์ให้เกิดแก่ปวงชนชาวไทย เพื่อคนไทยทั้งประเทศได้รวมหัวใจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ แล้วทำความดีสนองพระมหากรุณาธิคุณเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่พระองค์ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด ตั้งแต่ปี 2495 และเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกภาคในปี 2518 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่มีการสู้รบ ระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งสองพระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎร และทหารในพื้นที่การสู้รบ ได้ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของราษฎร โครงการตามพระราชดำริจึงเกิดขึ้นในพื้นที่การสู้รบและช่วยเหลือประชาชนทุกข์ยาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นความทุกข์ยากของราษฎร จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือในทุกๆด้าน ทั้งความทุกข์จากการเจ็บป่วย ทุกข์จากการขาดการศึกษา ซึ่งส่งผลกระทบไปแทบทุกด้าน ทุกข์จากการทำมาหากิน จึงนำมาสู่โครงการด้านสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ (แพทย์พระราชทาน ยาพระราชทาน หมอหมู่บ้าน) สงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้พิการ ทรงรับนักเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์มากมายทั่วทุกภาค และพระราชทานโครงการศิลปาชีพทั่วทุกภาค ให้ความรู้ ให้อาชีพ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ และศาสนา แม้แต่ชาวต่างชาติ เช่น เหตุการณ์ที่ชาวกัมพูชาอพยพหนีภัยการสู้รบที่ฆ่ากันตายเป็นจำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออก พระองค์เสด็จฯไปทรงช่วยเหลือด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2522 ทรงตั้งศูนย์สภากาชาดไทย เขาล้าน จังหวัดตราด ท่ามกลางฝนที่ตกไม่หยุด การสู้รบก็ยังคงมีอยู่ ทำให้ชาวกัมพูชารอดชีวิตจากป่วยไข้ และหิวโหย เป็นจำนวนนับแสน ซึ่งยังคงจารึกอยู่ในใจของคนกัมพูชากลุ่มนี้ตราบทุกวันนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงให้อย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องการอะไรตอบแทน ทรงเป็นพระราชินี ที่ประทับพับเพียบกับพื้น ไต่ถามทุกข์สุขของราษฎร อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ทรงอ่านความทุกข์ราษฎรจากแววตา รับสั่งว่า “เขาจะแต่งตัวมาดีอย่างไรก็ตาม แต่แววตาไม่สามารถปิดบังความทุกข์ได้” สมุดบันทึกส่วนพระองค์นำไปสู่ขบวนการแก้ปัญหา ด้วยสายพระเนตรอันเฉียบคม และมาเป็นโครงการตามพระราชดำริอีกมากมาย สุดจะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ คงจะนำมาจัดกลุ่มงานที่พระองค์พระราชทานกับประเทศชาติ และประชาชนมากมาย 1.ปกป้องผืนป่า 2.เพิ่มคุณค่าครอบครัว 3.ล้อมรั้วแผ่นดิน 4.สร้างศิลปินชาวบ้าน 5.แหล่งผลิตอาหารแดนไกล 6.มรดกไทยคู่แผ่นดิน ปกป้องผืนป่า พระองค์ทรงรักป่าอย่างยิ่ง รับสั่งเสมอว่า ถ้าเราทำลายป่าต่อไป จะไม่มีน้ำ ไม่มีป่าเก็บน้ำฝน ผืนดินจะแห้งแล้ง หรือน้ำท่วม แล้วไหลลงทะเลหมด พระองค์ทรงสร้าง “โครงการป่ารักน้ำ” ป่า คือ จุดเริ่มต้นความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน แม่น้ำทุกสายในประเทศไทยล้วนมาจากป่าฝนทั้งสิ้น เราไม่มีหิมะให้ละลาย ได้เกิดโครงการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นหลายแห่ง โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดังพระราชดำรัส“ให้คนกับป่า อยู่ด้วยกันอย่างพึ่งพาและเกื้อกูล” เกิดโครงการ “ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า” (รสทป.) กลุ่มรสทป.ใดที่รักษาผืนป่าได้ดี พระองค์จะทรงพระราชทาน “ธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต” จะเห็นว่าทรงให้ความสำคัญกับผืนป่าเป็นอย่างยิ่ง เพิ่มคุณค่าครอบครัว พระองค์ทรงพระเมตตาพระราชทานสงเคราะห์แก่ผู้เจ็บป่วย คนยากจน คนชรา คนพิการ รับนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจนไว้ในพระราชานุเคราะห์มากมาย ตั้งธนาคารข้าว เกิดหมอหมู่บ้าน ยาพระราชทานทรงตั้ง “มูลนิธิสายใจไทย” เพื่อสงเคราะห์แก่ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครที่บาดเจ็บ พิการ จากการสู้รบ รวมทั้งครอบครัวตั้งแต่ปี 2518 และทรงตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ” ในปี 2519 ซึ่งได้ช่วยเหลือให้ชาวนา ชาวไร่ ผู้ยากไร้ ได้มีความรู้ มีอาชีพ และเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงยกย่องว่าเป็นศิลปิน มีเงินให้ลูกได้เรียนหนังสือ ช่วยเหลือครอบครัวให้มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ล้อมรั้วแผ่นดิน จะเห็นได้ว่าโครงการตามพระราชดำริทั้งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณชายขอบของประเทศ โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ความมั่นคง บางพื้นที่ก็มีบ้านยามชายแดน ทรงให้การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไทยภูเขา ซึ่งส่วนมากเป็นชนเผ่าต่างๆ ทำให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่ตามแนวชายแดน นับได้ว่านี่คือ การล้อมรั้วแผ่นดิน สร้างศิลปินชาวบ้าน เมื่อพระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทรงคัดเลือกสมาชิกของครอบครัวราษฎรที่ยากจนทั่วประเทศ ให้มาเรียนศิลปะแขนงต่างๆ และทรงหาผู้เชี่ยวชาญงานฝีมือมาถ่ายทอดวิชาให้ จนเป็นช่างฝีมือ ที่จะอนุรักษ์งานฝีมือที่สืบทอดมาแต่โบราณ เกิดผลงานศิลปะอันวิจิตรประณีต เท่ากับพระองค์ ทรงเจียระไนเพชรของแผ่นดิน โดยแท้ แหล่งผลิตอาหารแดนไกล พระองค์ทรงพระราชดำริว่าราษฎรจำนวนมาก ขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ ขาดแหล่งอาหาร ความยากจน ทำให้มีผู้บุกรุกทำลายป่า ล่าสัตว์ป่าจึงได้พระราชทาน โครงการฟาร์มตัวอย่าง ในปี 2540 ทรงมุ่งหมายให้เป็นแหล่งจ้างงานชาวบ้านที่ยากจน เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษ และเป็นแหล่งให้ความรู้ในการประกอบอาชีพในที่ดินของตนได้ และทรงตั้ง โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ในภาคเหนือหลายแห่ง ซึ่งเป็นแนวทางคล้ายฟาร์มตัวอย่าง แต่ทรงให้เน้นทางการเกษตรมากกว่าปศุสัตว์ มรดกไทยคู่แผ่นดิน จากศิลปินชาวบ้านที่พระองค์ทรงรังสรรค์ให้กลายเป็นสุดยอดฝีมือ ผู้สืบสานงานศิลป์ สืบทอดมาแต่โบราณ ด้วยงานเครื่องทอง เครื่องเงิน คร่ำเงิน-คร่ำทอง จักสานย่านลิเภา จักสานไม้ไผ่ ทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย ทอจก ปักผ้า เครื่องปั้นดินเผา ตกแต่งปีกแมลงทับ ช่างไม้ ช่างหวาย ดอกไม้ประดิษฐ์ ลงยาสี เป็นผลงานหัตถศิลป์ถิ่นสยามที่งดงามยิ่งนัก มาจัดแสดงในงาน ศิลป์แผ่นดิน มาแล้วหลายครั้ง ทำให้ชาวไทยได้ภาคภูมิใจในมรดกแห่งแผ่นดิน และให้ชาวต่างชาติได้ชื่นชมในเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยแล้วยังเกิดผลพวงแห่งการนำไปสู่การมีรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น พระเมตตาต่อสัตว์คู่แผ่นดิน ช้าง เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง คู่แผ่นดิน ที่เคยร่วมรบป้องกันและกอบกู้บ้านเมืองมาแต่ประวัติศาสตร์ ช้าง เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่พิเศษกว่าสัตว์ทั้งปวง เช่น 1.เป็นสัตว์สัญลักษณ์ในธงชาติ เดิมธงชาติไทยพื้นสีแดง และมีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์แล้ว ก็ยังคงปรากฏอยู่ในธงราชนาวี 2.เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แม้คนทั่วไปจะยกเลิกบรรดาศักดิ์แล้ว แต่ช้างยังคงอยู่ เช่น พระเศวตอดุลยเดชพาหลฯ เป็นช้างเผือกคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 3.เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่อยู่ในเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9ทรงรักและทรงห่วงใยช้างเป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดฯให้ตั้งโครงการ คืนช้างสู่ธรรมชาติ และได้เสด็จฯไปทรงปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติในปี 2540 ณ จังหวัดลำปาง และได้ทรงปล่อยอีกหลายครั้ง ต่อมาได้ตั้งเป็นมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติสนองพระราชดำริสืบมาจนปัจจุบัน ในต้นปี 2555 ช้างป่าที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ถูกฆ่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9มีพระราชดำริในวันที่ 5 มกราคม 2555 ความว่า “ช้างเป็นสัตว์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรัก ทรงห่วงใย โดยเฉพาะช้างทางกุยบุรี และแก่งกระจาน ทรงห่วยใยมาโดยตลอด ทรงช่วยหาที่อยู่ที่ดินให้ช้าง จะได้ไม่รบกวนคน ช้างกับคนจะได้มีปัญหากันน้อยที่สุด เช่น ที่กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ช้างมีความสำคัญมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เคยช่วยรักษาบ้านเมือง กู้บ้านกู้เมือง ดังนั้นขอให้ช่วยกันดูแล มิให้ช้างถูกฆ่าอย่างทารุณเยี่ยงนี้ เพื่อจะได้ไม่ผิดพระราชประสงค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้มีการอนุรักษ์ช้าง ให้เป็นสัตว์คู่แผ่นดินสืบไป” หลังจากนั้น กองทัพภาคที่ 1 โดยกองพลทหารราบที่ 9 ได้จัดให้มีการฝึก “ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ช้าง” หลายรุ่น ช่วยดูแลช้างและปลูกพืชอาหารช้าง จนถึงทุกวันนี้ พระเมตตาสู่ผืนน้ำ ทรงจัดตั้ง “โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล” เพื่อการฟื้นฟูแหล่งอาหารชายฝั่งด้วยการสร้างปะการังเทียม ให้เป็นที่หลบภัย หาอาหารวางไข่ของปลา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง และโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลน เช่นที่ วนอุทยานปราณบุรีสิรินาถราชินี พระราชทานพระราชดำริ ให้มีการฟื้นฟูพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำจืดของไทย โดยการจัดตั้ง วังปลา ที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดตั้งฟาร์มทะเลตัวอย่างที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงมีพระเมตตา ดูแลประชาชน ตั้งแต่ ภูผา สู่มหานที โดยแท้ พระองค์มีรับสั่งว่า “ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน” ทรงให้โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องการอะไรตอบแทน พระมหากรุณาธิคุณอันแผ่ไพศาลนี้ เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก จนทำให้ชาวต่างชาติถวายรางวัลพระองค์มากมาย ขอยกตัวอย่างเช่น -องค์การอาหารและเกษตรแห่งประชาชาติ (FAO)ถวายรางวัล เหรียญเซเรส(CERES MEDAL) จารึกด้านหลังเหรียญว่า “TO GIVE WITHOUT DISCRIMINATION” แปลว่า “ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง” -องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)ถวายเหรียญโบโรพุทโธทองคำ (Unesco Borobudur Gold Medal) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการผดุงรักษาไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมของประชาคมโลก เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2560ขอพระบรมราชานุญาตถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ ทรงสถิตเป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ทองของปวงข้าประชาชนชาวไทยตราบนานเท่านาน ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอดชะ