สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ แถลงข่าวโชว์ความผู้นำในการให้บริการตรวจชนิดมะเร็งจากชิ้นเนื้อโดยเทคโนโลยีย้อมอิมมูโนฮีสโตเคมีด้วยเครื่องย้อมอัตโนมัติมากที่สุดในประเทศไทย ช่วยให้แพทย์วินิจฉัย รักษาโรคมะเร็งได้แม่นยำขึ้น นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ มีบทบาทหน้าที่ในการศึกษา วิจัย ประเมิน ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบเครือข่าย ตลอดจนนำรูปแบบการรักษาและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ให้เกิดความเหมาะสม เพื่อพัฒนาการแพทย์ของประเทศสู่มาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ กรมการแพทย์มีหน่วยงานในสังกัดที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านต่างๆ อาทิ โรคมะเร็ง โรคผิวหนัง โรคระบบประสาท โรคทรวงอก โรคกระดูกและข้อ โรคเด็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านพยาธิวิทยากายวิภาค คือ สถาบันพยาธิวิทยา มีหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านพยาธิวิทยาแก่สถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน บริการตรวจและวินิจฉัยทางการแพทย์ สาขาพยาธิวิทยา เพื่อพัฒนาวิชาการแพทย์เฉพาะทางด้านพยาธิวิทยา เพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยรักษาโรคต่างๆได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น เนื่องจากการเจ็บป่วยของประชาชนในบางราย อาจจำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะหรือตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูความผิดปกติของเนื้อเยื่อด้วยกล้องจุลทรรศน์ และวินิจฉัยโดยพยาธิแพทย์ ซึ่งเนื้องอกหรือมะเร็งหลายชนิดมีความจำเป็นต้องตรวจพิเศษ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย รักษา ที่เรียกว่า อิมมูโนฮีสโตเคมี (Immunohistochemistry) ซึ่งสถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานที่มีความชำนาญในการให้บริการด้านนี้ นายแพทย์ณรงค์  อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันพยาธิวิทยา กล่าวว่า สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ เป็นผู้นำในการให้บริการตรวจอิมมูโนฮีสโตเคมีที่มากที่สุดในประเทศไทย (70,000 การทดสอบ/ปี) โดยมีน้ำยาที่ใช้ในการตรวจมากกว่า 200 ชนิด ด้วยเครื่องย้อมอัตโนมัติ มีระบบควบคุมคุณภาพการย้อม และสามารถให้บริการแบบได้ผลภายในวันเดียว จึงทำให้มีผู้ใช้บริการจากโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชน ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ส่งชิ้นเนื้อหรืออวัยวะมาตรวจเป็นจำนวนมาก การให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานจนได้รับการรับรองคุณภาพจากราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การบริการอิมมูโนฮีสโตเคมี ช่วยให้ประชาชนได้รับการบริการทางในด้านการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง แม่นยำ เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แพทย์หญิงไพรัตน์  แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันพยาธิวิทยา นายแพทย์ทรงคุณ วิญญูวรรธน์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันพยาธิวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อิมมูโนฮีสโตเคมี เป็นการตรวจพิเศษที่อาศัยหลักการของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยที่เซลล์เนื้องอก หรือเซลล์มะเร็งจะมีฉลากประจำเซลล์ที่เรียกว่าแอนติเจน (Antigen) ซึ่งจะถูกนำไปฉีดในหนูให้สร้างภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า แอนติบอดี้ (Antibody) แล้วนำแอนติบอดี้เหล่านี้มาทำน้ำยาสำหรับตรวจเนื้อเยื่อ การจับตัวกันของแอนติเจนบนเซลล์มะเร็ง และแอนติบอดี้ในน้ำยา จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมี จนสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ วิธีการอิมมูโนฮีสโตเคมีช่วยในการวินิจฉัยชนิดของมะเร็ง โรคติดเชื้อต่างๆ และช่วยในการพยากรณ์โรค ตลอดจนคัดเลือกยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ เป็นต้น จึงทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัย วางแผนการรักษาผู้ป่วยและใช้ยารักษาในแต่ละรายได้เหมาะสมตามผลการตรวจทางพยาธิวิทยา นายแพทย์ทรงคุณ  วิญญูวรรธน์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันพยาธิวิทยา ทั้งนี้ การตรวจชนิดมะเร็งจากชิ้นเนื้อโดยเทคโนโลยีย้อมอิมมูโนฮีสโตเคมีด้วยเครื่องย้อมอัตโนมัติทำให้มีความแม่นยำสูง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยชนิดของมะเร็งได้ชัดเจนรวดเร็วขึ้น และสามารถคัดเลือกยาสำหรับรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ เป็นต้น การตรวจโดยวิธีดังกล่าวจะครอบคลุมสิทธิการรักษาทั้ง 3 กองทุนคือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)