“ดอยอมพาย” โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ“สมเด็จแม่แห่งแผ่นดิน” (1) ข้าวในนาปลาในน้ำคำโบราณ คือตำนานความอุดมสมบูรณ์สิน ฝากลูกไทยร่วมหวงแหนรักแผ่นดิน ถนอมไว้อย่าให้สิ้นแผ่นดินไทย ส่วนหนึ่งของบทเพลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่ประพันธ์คำร้องโดยนักประพันธ์ทั้งศิลปินแห่งชาติและระดับศิลปินแห่งชาติ คือครูชาลี อินทรวิจิตร ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ คุณหญิง กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และทำนองโดยศิลปินแห่งชาติ เรืออากาศตรี ศ.พิเศษ แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ อ.วิรัช อยู่ถาวร อ.วิชัย อึ้งอัมพร และ อ.จิรวุฒิ กาญจนะผลิน จากบทเพลงนี้ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยในอดีตที่มีทั้งพืชผลและน้ำกินน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ เป็นผืนแผ่นดินที่มีความสุข นั่นคือ อดีตที่ผ่านมายาวนาน จึงมีการฝากมายังรุ่นหลังให้มีความหวงแหนในแผ่นดิน ช่วยกันถนอมรักษาเพื่อคงความสมบูรณ์ไว้ในแผ่นดินให้ยาวนาน “ป่าต้นน้ำ” นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีมา เพราะว่าจะช่วยทำให้มีน้ำเก็บกักไว้ใช้ในยามจำเป็น ทำให้ระบบนิเวศป่าและน้ำ เกื้อกูลกันอย่างเหมาะสม เกิดความอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้และน้ำ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์พระราชทานเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2537 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา “...การที่ข้าพเจ้าเตือนให้คนไทยรักษาป่า มิใช่จะเห็นป่าสำคัญกว่าคน แต่ให้รักษาป่าไว้สำหรับเก็บน้ำจืดไว้เพื่อคน เพราะน้ำมีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตมนุษย์ ...เราต้องดื่มน้ำ ต้องใช้น้ำในชีวิตประจำวัน ต้องใช้น้ำในการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ข้าพเจ้าจึงขอวิงวอนให้คนไทยช่วยกันรักษาป่า ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเพียงแหล่งเดียวของประเทศไทยไว้ให้ดี....” สำหรับพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ได้ทรงตรัสไว้เกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งสถานีการเกษตรที่สูงบน ดอยอมพายที่ถูกตัดโค่นไปมากมาย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องของป่าต้นน้ำ ทรงตรัสไว้ในตอนหนึ่ง ว่า “...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามงานทุกโครงการโดยตลอดและทรงอ่านละเอียดมากทุกอย่าง ภาพที่คุ้นตาประชาชน คือภาพที่ทรงถือแผนที่ติดพระองค์เป็นประจำ แม้ประทับเฮลิคอปเตอร์ หรือเวลาที่ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง จะทรงวางแผนที่ไว้ข้างพระองค์และทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริงเทียบกับแผนที่ และทรงซักถามชาวบ้านถึงชื่อหมู่บ้าน ถนน แม่น้ำ ลำคลอง... เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยี่ยมราษฎรพื้นที่ภาคเหนือแทนพระองค์ ข้าพเจ้าก็ได้ยึดถือแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งโครงการช่วยเหลือชาวไทยภูเขามาเป็นต้นแบบ โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุญาตให้ใช้พื้นที่ที่ถูกแผ้วถางจนโล่งเตียนหมดแล้ว จัดตั้งเป็นสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงเพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้หยุดการทำไร่เลื่อนลอยและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่เคยใช้ปลูกพืชเสพติดมาเป็นแปลงเกษตร ปลูกพืชเมืองหนาว และจัดตั้งฟาร์มตัวอย่างขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เป็นต้น.. .บางพื้นที่ก็จัดตั้งเป็นโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่เพื่อช่วยอนุรักษ์ไม้ มีหลายพื้นที่ที่ราษฎรได้ตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นจากการที่ป่าส่วนมากถูกทำลายจนเป็นเหตุให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและแผ่นดินถล่มลงมาทับถมบ้านเรือน ราษฎรจึงได้ช่วยกันปลูกป่าและคืนผืนป่าให้แก่ทางราชการ ดังตัวอย่างเช่นที่ ดอยอมพาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่...” (อ่านต่อ) ข่าวที่เกี่ยวข้อง ๐ “ดอยอมพาย” โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ“ สมเด็จแม่แห่งแผ่นดิน” (2) “ดอยอมพาย” โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ“ สมเด็จแม่แห่งแผ่นดิน” (จบ)