แม้สิ้นครูแห่งแผ่นดิน...แต่ไม่สิ้นปณิธานครู "...งานครูนั้นว่าถึงฐานะ ตำแหน่ง ตลอดจนรายได้ ดูออกจะไม่ทัดเทียมงานอื่นหลายๆ อย่าง แต่ถ้าว่าถึงผลอันแพร่หลายยั่งยืนแล้วจะต้องถือว่าอยู่เหนือกว่างานด้านอื่นทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะครูเป็นผู้ให้ความรู้ ความดี และความสามารถ นานาประการแก่ศิษย์ เป็นสมบัติอันประเสริฐติดต่อศิษย์ สำหรับที่จะนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ ทั้งแก่ตัวเองและส่วนรวม และครูแต่ละคนนั้น ต่างได้แผ่ความเมตตาสั่งสอนศิษย์นับจำนวนพัน จำนวนหมื่นให้เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน ...จึงพูดได้เต็มปากว่าครูมีผลงานการสร้างสรรค์อย่างสูง พร้อมทั้งมีเมตตากรุณาต่อคนทั้งหลายอย่างกว้างขวางไม่มีประมาณ เป็นเหตุให้คนไทยเคารพยกย่องครูอย่างยิ่ง ถือเป็นบุพการีที่แท้จริงเป็นที่สองรองแต่บิดามารดาเท่านั้น...ท่านทั้งหลายมีโชคดีได้มาเป็นครู และได้ปฏิบัติหน้าที่สำเร็จสมบูรณ์ดีแล้วทุกอย่างเช่นนี้ น่าจะมีความภาคภูมิใจ ทั้งมีความยินดีพอใจที่จะปฏิบัติบำเพ็ญคุณธรรมความดีของครูให้เพียบพร้อมยิ่งขึ้น เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของความเป็นครูไว้ ให้เป็นแบบฉบับแก่คนรุ่นหลัง สำหรับประพฤติปฏิบัติต่อตามกันสืบไปตลอดกาลนาน..." พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน พระราชทานแก่ครูอาวุโส ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2524 ดังพระบรมราโชวาทข้างต้น คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) สถาบันการศึกษานามพระราชทาน ที่มีฐานรากมาจากการผลิตครูมืออาชีพ ได้จัดโครงการเจียระไนหัวใจ "ครูเพื่อศิษย์" ปี 5 สืบสานพระราชปณิธานตามรอย "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" สร้างครูดีสู่สังคม นำ 45 นักศึกษาสายครุศาสตร์ สัมผัสประสบการณ์ผู้ให้ และพัฒนาโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร ดร.มนตรี เด่นดวง รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนานักศึกษา คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ที่ปรึกษาโครงการครูเพื่อศิษย์ กล่างถึงโครงการครูเพื่อศิษย์ ที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาถึงรุ่นที่ 5 สานต่อปณิธานสร้างครูดีสู่สังคม นำนักศึกษาครู 45 ชีวิตลงพื้นที่ปฏิบัติจริง ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านยูงทองรัฐประชาสรรค์ อ.ควนกาหลง จ.สตูล เพื่อให้นักศึกษามีความรักศรัทธาและมีจิตวิญญาณในความเป็นครู ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูในศตวรรษที่ 21 จากการปฏิบัติลงพื้นที่จริง และเพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการช่วยเหลือโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร อันเป็นพันธกิจสำคัญของคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ที่มุ่งเน้นผลิตครูสู่ท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพต่อเนื่องยาวนานเกือบ 100 ปี โครงการครูเพื่อศิษย์ เดินตามรอยพระยุคลบาทพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน ที่ทรงพระราชทานไว้ว่า "การพัฒนาต้องเป็นไปตามขั้นตอน เพื่อให้มีรากฐานที่มั่นคงก่อน แล้วจึงดำเนินการเพื่อความเจริญก้าวหน้าในลำดับต่อๆ ไป" และยึดหลักการทรงงานของพระองค์ในเรื่องการระเบิดจากข้างใน มาเป็นแนวทางในการทำงาน พระองค์ตรัสว่า "ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องเกิดจากความคิด ความรู้ ความต้องการภายในเป็นแรงผลักดันด้วยตนเอง ไม่ใช่เกิดจากคนอื่นมากระตุ้นให้ทำหรือส่งเสริมให้ทำ" เปรียบเหมือนอาชีพครูไม่ใช่ทำเพียงเพราะเป็นหน้าที่ แต่ต้องทำด้วยจิตวิญญาณ น.ส.นิภาวรรณ ทองจินดา นักศึกษาปี 4โปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ ฐานะประธานโครงการฯ กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน และสนองพระราชดำริในการพัฒนาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ภายใต้แนวคิดที่ว่าแม้สิ้นครูแห่งแผ่นดิน แต่ไม่สิ้นปณิธานครู "ขอบคุณที่ได้โอกาสทำงานสนองพระราชปณิธาน สานต่อประทีปแห่งจิตวิญญาณให้ส่องสว่างเพิ่มขึ้น แม้ไม่มากด้วยปริมาณแต่เปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์ที่มั่นคง เพราะครูเป็นอาชีพที่มีโอกาสในการให้มากที่สุด ยิ่งให้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มบุคลากรที่ดีและมีคุณภาพให้กับประเทศชาติได้มากเท่านั้น" น.ส.นิภาวรรณ กล่าวและว่า การเป็นครูที่ดี คือต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ได้ ดังนั้น การออกไปประกอบวิชาชีพครู จึงต้องทำด้วยใจรักและยึดมั่นในจรรยาบรรณ ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาวิชาชีพครูจึงต้องเริ่มพัฒนาจากตัวเอง ก่อนที่จะไปพัฒนาเด็กๆ เหล่านั้นปลุกจิตวิญญาณของความเป็นครูให้เกิดขึ้นในหัวใจ ดั่งที่โครงการครูเพื่อศิษย์ตั้งปณิธานไว้ "เจียระไนหัวใจครู สู่วิชาชีพ" เราเชื่อมั่นว่าไม่มีการพัฒนาสิ่งใดที่จะยั่งยืนไปเท่ากับการพัฒนาจิตใจของคน ขณะที่ น.ส.ชลธิชา สีสมอ่อน นักศึกษาปี 2 โปรแกรมวิชาภาษาไทย กล่าวถึง ครูเพื่อศิษย์เป็นโครงการที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษาครุศาสตร์ อยากเข้าร่วมเพื่อหาประสบการณ์และฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู "คนที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องฝ่าฟันหลายด่าน โดยเฉพาะการสอบสัมภาษณ์ที่เข้มข้น คำถามส่วนใหญ่เป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับครู และจิตวิทยา แต่ต้องมีสติ มีไหวพริบที่ดีในการตอบ จึงจะผ่านด่านนี้ไปได้ เมื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ทุกคนต้องเจอ "การสอบสอน" ที่ค่อนข้างยากและท้าทายมาก อย่างตนเองนั้น ต้องไปสอน รร.ตำรวจตระเวนชายแดนยูงทองรัฐประชาสรรค์ ก็ได้รับการดูแลอบอุ่นมาก สิ่งที่ประทับใจจากโครงการฯ คือการได้ลงมือสอนจริง เราเห็นแววตาของเด็กๆ ที่มีความมุ่งมั่นอยากเรียนหนังสือ เด็กๆ มีความรู้พื้นฐานที่ดี มีความกระตือรือร้น สนใจทั้งการเรียน เกม กิจกรรมที่จัด ทั้งการแสดงละครกลุ่ม กิจกรรมฐาน การถอดบทเรียน และกิจกรรมเปิดใจที่ทำให้ครูฝึกสอนและเด็กๆ รู้จักกัน แลกเปลี่ยนกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้พวกเราครูเพื่อศิษย์ ตระหนักถึงวิชาชีพครูมากยิ่งขึ้น" เช่นเดียวกับ น.ส.ปริฉัตร แก้วพิทักษ์ ครูเพื่อศิษย์ปี 5 กล่าวภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ร่วมโครงการฯ แม้จะเป็นเพียงคนเบื้องหลังตัวเล็กๆ ของโครงการ แต่ก็ภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน เราจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีช่วยกันพัฒนาต่อไป สมดังปณิธานของโครงการ"เจียระไนหัวใจครูสู่วิชาชีพ" ------------------------- ๐ สนับสนุนข้อมูล - ลัดดา เอ้งเถี้ยว มรภ.สงขลา