ยังมั่นใจครูมีวินัย ให้ถือเงินไปจ่ายหน่วยอบรมเอง นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาครูครบวงจร ว่าที่ประชุมรับทราบกรณีผู้รับผิดชอบหลักสูตรยกเลิกการจัดอบรม จำนวน 87 หลักสูตร ใน 22 หน่วยงาน แบ่งเป็นหน่วยงานเอกชน 8 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ขอจัดอบรม 14 แห่ง รวม 213 รุ่น จำนวนครูที่ลงทะเบียน 22,349 ราย
ซึ่งเหตุผลในการขอยกเลิกหลักสูตรของผู้จัดอบรม เช่น กลุ่มเป้าหมายไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดจึงไม่สามารถจัดอบรมได้ เกิดความล่าช้าในการโอนเงินค่าลงทะเบียนล่วงหน้าของผู้เข้ารับการอบรม ทำให้ฝ่ายจัดไม่สามารถวางแผนการดำเนินโครงการได้ ซึ่งจะต้องส่งเงินกับกับหน่วงที่จัดล่วงหน้า 7 วัน ต้องปรับปรุงหลักสูตร และจำนวนผู้สมัครมีจำนวนมากไม่สามารถจัดหาสถานที่รองรับผู้เข้าอบรมได้
อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนหลักสูตรอบรมจะถูกยกเลิกค่อนข้างมาก แต่มีครูที่สำรองเงินจ่ายแล้วได้รับผลกระทบเพียง 175 ราย ซึ่งทางสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะประสานเพื่อชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ส่วนที่เหลือรู้ตัวล่วงหน้าและยังไม่ได้จ่ายเงิน "สพฐ.ยอมรับว่า เมื่อเริ่มดำเนินการคัดเลือกหน่วยงานที่จัดอบรม เรามองโลกในแง่ดีว่า ทุกคนอยากเข้ามาช่วยกันพัฒนาการศึกษา ดังนั้น จึงยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเปิดกว้าง ทำให้บางคนที่จัดอบรมเองและคิดว่าหลักสูตรของตัวเองดี ก็เสนอเข้ามาโดยใช้ชื่อของมหาวิทยาลัยแต่สุดท้ายก็เกิดปัญหา
ดังนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานจัดอบรมในปีงบประมาณ 2561 โดยต่อไปจะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ละแห่งทำหน้าที่เป็นซีอีโอ เริ่มต้นกระบวนการสำรวจ ว่าครูในพื้นที่ต้องการอบรมหลักสูตรใด
เมื่อได้ข้อมูลจะประกาศให้หน่วยงานที่จัดอบรมได้รับทราบ และเสนอหลักสูตรเข้ามาให้ ทางสถาบันคุรุพัฒนารับรองหลักสูตร จากนั้นสถาบันคุรุพัฒนาจะส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองหลักสูตรอบรม ของ สพฐ. คัดเลือกอีกรอบ ก่อนเสนอให้เลขาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงนาม ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ผ่านการคัดเลือกต่อไป ขณะเดียวกันสถาบันคุรุพัฒนาอยู่ระหว่างการจัดทำ กรอบการออกแบบหลักสูตรพัฒนาครูและเกณฑ์การประเมินรับรองหลักสูตรพัฒนาครูใหม่ ทำให้มั่นใจได้ว่าหลักสูตรที่จะมาอบรมให้ครูต่อไป มีคุณภาพและได้มาตรฐานแน่นอน" รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ครูทำแผนพัฒนาตนเอง หรือไอดีแพลน เข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ ทราบข้อมูลว่า ครูคนไหน อบรมหลักสูตรใด เป็นเงินจำนวนเท่าไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในระบบและสามารถตรวจสอบได้ ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการอบรมนั้น ยอมรับว่ามีปัญหาติดขัดในเรื่องการเบิกจ่ายบ้าง เพราะใช้เหลือจ่ายจากโครงการต่าง ๆ ส่งลงไปที่เขตฯ ทำให้เกิดความล่าช้า แต่ปีงบฯ 61 สพฐ.ได้เตรียมจัดสรรงบฯในส่วนนี้ไว้แล้ว สำหรับการเบิกจ่ายงบฯค่าจัดอบรมนั้น โดยนโยบาย สพฐ. ยังให้ครูเป็นผู้ถือเงินไปจ่ายหน่วยอบรมเอง โดยใช้วิธียืมเงินจากเขตพื้นที่ฯ และนำใบเสร็จจากหน่วยที่จัดอบรมมาเป็นหลักฐาน สพฐ.เชื่อมั่นว่าครูทุกคนมีวินัย และหากมีใครคิดที่จะจ่ายเงินทอนครู ก็จะมีครูที่ไม่เห็นด้วยนำข้อมูลมาบอก สพฐ.ให้ตรวจสอบ ดังนั้นเรื่องพวกนี้จึงเกิดขึ้นได้ยาก