เมื่อการระบาดของโควิด-19 ได้ฉุดยอดการใช้จ่ายในด้านต่างๆ ลดลง โดยเฉพาะในหมวดของการท่องเที่ยว สำหรับบัตรเครดิตเคทีซี บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จากปกติที่มีรายได้ประมาณ 10%ของยอดรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปี 2562 ที่มีอยู่ 1.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 50% ในปี 2563 หรือเหลือประมาณ 9 พันล้านบาท ด้วยเหตุนี้ นางสาวเจนจิต ลัดพลี ผู้อำนวยการการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ "เคทีซี" จึงได้สะท้อนแผนการดำเนินงานที่จะพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเช่นเดิม โดยมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับตลาดในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ ปี 2563 ยอดใช้จ่ายลดลง 50% ทั้งนี้ นางสาวเจนจิต ลัดพลี ผู้อำนวยการการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ "เคทีซี" กล่าวว่า การชะลอตัวด้านการท่องเที่ยวจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ของบัตรเครดิตเคทีซี ที่จัดว่าอยู่ในอันดับ 2 ของยอดการใช้จ่ายโดยรวมของเคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีลูกค้าบัตรเครดิต 2.3 ล้านใบ คิดเป็นจำนวนผู้ถือบัตรอยู่ที่ 1.9 ล้านคน (1 คนอาจมีบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ) ได้รับผลกระทบจากยอดการใช้บัตรที่ลดลง ทำให้ต้องปรับกลยุทธให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งยอดการใช้จ่ายในหมวดท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นตั๋วเครื่องบิน รถเช่า สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม บริษัททัวร์ลดลง ประมาณ 50% เหลือเพียง 9 พันล้าน ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดระลอก 2 ยังไม่สิ้นสุด ขณะที่ภาพรวมยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากคนยังไม่มีความมั่นใจในการเดินท่องเที่ยว ประกอบกับแต่ละจังหวัดมันมีมาตรการต่างๆ ขณะที่ธุรกิจที่ยังปได้ คือ ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (OTA) ที่ปรับตัวมาเป็นธุรกิจตัวกลาง ขายห้องพัก ผ่านโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ส่วนธุรกิจสายการบิน ถูกจัดว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด จากต้นทุนที่สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ ซึ่งระยะทางบินก็เหลือเพียงเส้นทางบินในประเทศ ส่วนธุรกิจโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งต่างปิดให้บริการชั่วคราวไป ดังนั้นจึงคาดว่าตลาดด้านท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว มุ่งเน้นพัฒนาระบบหลังบ้าน ด้วยเหตุนี้ นางสาวเจนจิต จึงกล่าวว่า ต้องกลับมาดูการทำงานของเคทีซี ซึ่งมี KTC World Travel Service เป็นศูนย์บริการด้านการเดินทางและท่องเที่ยวสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีที่ในเวลานี้ได้ทำงานแบบสวนทางกับตลาด โดยรวม คือ ไม่ลดคน แต่กลับมีการขยายบริการขึ้นไปอีก เนื่องจากเห็นความจำเป็นที่ลูกค้าต้องมีที่พึ่ง เพื่อความชัดเจนในข้อมูลข่าวสารที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นในฐานะตัวกลาง ระหว่างลูกค้าสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี และพันธมิตรในธุรกิจท่องเที่ยว จึงสามารถติดต่อประสานงานให้ได้รับความสะดวก และถูกต้องแม่นยำ ขณะเดียวกันระบบหลังบ้านของ KTC World Travel Service ได้มีการพัฒนา เพื่อรองรับสมาชิกบัตรเครดิต ในช่วงตลาดกลับมาเต็มรูปแบบอีกครั้ง เช่นระบบ Call Center จากเดิมเปิด 08.00 น.-20.00 น. ขยายการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และทำงานทุกวัน รวมทั้งขยายการให้บริการ LINE official การสร้างระบบ CRM และพยายามทำให้แพลตฟอร์มการให้บริการของลูกค้าแข็งแรงขึ้น สำหรับพันธมิตรทางธุรกิจของเคทีซี ที่มีความเดือดร้อนเนื่องจากตลาดได้หดตัวลง เพราะที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวไทย ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดต่างประเทศ 70-80% จากการมีโปรโมชั่นร่วมกัน ก็จัดทำเป็น Soft Content เรื่องมาตรการการช่วยเหลือการเยียวยาของแต่ละบริษัท รวมทั้งจัดถึงทำแคมเปญตามเวลาที่เหมาะสม เพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปให้ได้ ทั้งนี้ นางสาวเจนจิต ยังกล่าวถึงผู้ประกอบการด้านโรงแรม ที่แยกออกเป็นโรงแรมต่างจังหวัดและโรงแรมในกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าเป็นโรงแรมในกรุงเทพฯ จะมีการแนะนำลูกค้าถึงการให้บริการแบบ Staycation หรือการแนะนำให้กลุ่มคอร์ปอเรททานอาหารที่เอ้าท์เล็ทของโรงแรม แล้วได้บัตรกำนัลห้องพักฟรี เพื่อให้ธุรกิจยังมีการดำเนินการอยู่บ้าง รวมถึงการทำแคมเปญร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ลูกค้าสามารถซื้อคูปองรับประทานอาหารที่จังหวัดต่างๆผ่าน KTC World ซึ่ง ในอนาคตเรื่องของสุขภาพ และความปลอดภัยจะเป็นเทรนด์นิยมของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ดังนั้นการเดินทางเป็นกรุ๊ป แบบไปรวมกันกับคนที่ไม่รู้จักจะลดน้อยลง ลูกค้าเป็นกลุ่มลักชัวรี การเดินทางจะเป็นกลุ่มเล็กลง ดังนั้นทางเคทีซี จึงเตรียมพร้อมรองรับในจุดดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ จะเป็น One Stop Shop ขายผลิตภัณฑ์ทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยว