ตอบแทนพระคุณแผ่นดินแม่ พระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรโดยมิทรงคำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย และความสุขส่วนพระองค์ โดยทรงดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อนำพาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าและประชาชนมีความผาสุก ร่มเย็น ทรงรักและห่วงใยประเทศชาติและประชาชนเหมือน “แม่ที่รักและห่วงใยลูกอยู่ตลอดเวลา” พระราชกรณียกิจมากมายหลายด้านที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงบำเพ็ญด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยะ อุตสาหะและขันติธรรม ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงเมตตาและทรงห่วงใยในพสกนิกรและแผ่นดินเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยทรงงานเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอยู่เสมอ ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาต่างๆ ของราษฎร และนำมาซึ่งโครงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการช่วยเหลือราษฎรมากมาย เกิดประโยชน์หลายด้าน ดังที่ได้ทรงเคยมีพระราชดำรัสถึงเหตุที่ต้องทรงงานหนัก พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2522 ความตอนหนึ่งว่า “...ความจริงที่ข้าพเจ้ามีกำลังใจและกำลังกายที่จะปฏิบัติหน้าที่รับใช้บ้านเมือง ก็เนื่องด้วยเหตุนึกถึงคำของพ่อที่สอนมาตั้งแต่เล็กๆ และก็เมื่อแต่งงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงสอนตลอดมาว่า แผ่นดินนี้มีคุณ มีบุญคุณแก่ชีวิตของพวกเรามากมายนัก เพราะฉะนั้นชีวิตที่เกิดมานี้อย่าได้ว่างเปล่า จงตอบแทนให้รู้สึกตัวเสมอว่าเป็นหนี้บุญคุณ... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้ารู้สึกว่า ทำงานเท่าไรก็ยังไม่คุ้ม ยังไม่สมกับที่บรรพบุรุษของเผ่าไทยทั้งหลาย ผู้มีพระคุณ ผู้ที่ได้ปกป้องยึดผืนแผ่นดินนี้ได้มาตลอด แล้วดูตามประวัติศาสตร์แล้ว ท่านทั้งหลายได้ประสบความทุกข์ยากอย่างมากมาย ท่านทั้งหลายก็แน่วแน่ในปณิธานที่จะทำนุบำรุงผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้เป็นแผ่นดินที่ร่มเย็น เป็นแผ่นดินที่ทุกคน มีอิสระเสรีที่จะมีความเชื่อถือในศาสนาใดก็ได้ มีความสงบสุขอยู่ในศาสนาของตนโดยที่ไม่มีการข่มเหงรังแกบีบคั้น อันนี้เป็นลักษณะประเสริฐของบรรพบุรุษของไทยทั้งหลาย ซึ่งข้าพเจ้าอยากขอให้ทุกท่านนำคำพูดของข้าพเจ้าไปคิดดูให้ดี แล้วก็จะเห็นว่า ข้าพเจ้านั้นไม่ได้ดีวิเศษอะไรเลย เพียงแต่ว่าเมื่อนึกถึงพระคุณอย่างนี้แล้ว ก็ต้องยิ่งพยายามที่จะทำให้สุดความสามารถ...” พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 มีหลายด้าน แต่ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม ทรงล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความห่วงใยในประชาราษฎร์และแผ่นดินไทย ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการอาสาสมัครและอาสาสมัครสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2510 ความตอนหนึ่งว่า ประโยชน์ส่วนรวมย่อมรู้จักแบ่งปันความสุขเพื่อผู้อื่น และพร้อมที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นตามกำลังและโอกาสเสมอ...” พระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2535 ความตอนหนึ่งว่า “...เราเรียกแผ่นดินนี้ว่าแผ่นดินแม่ เพราะแผ่นดินนี้เป็นที่เกิด และเลี้ยงดูคนไทยมากว่า 700 ปี ควรที่เราทั้งหลายจะบำรุงรักษาแผ่นดินให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ ถ้าเรามัวแต่ตักตวงผลประโยชน์จากผืนดิน... สักวันหนึ่งแผ่นดินแม่คงตายจากเราไป โดยไม่มีวันหวนกลับคืนมา คงเหลือไว้ซึ่งพื้นดินที่แห้งแล้ง สิ้นสภาพจากการเป็นดินที่จะทำการเพาะปลูกได้คงจะมีแต่ฝุ่นตลบไปหมด เสมือนแผ่นดินที่ไร้วิญญาณไร้ความหมายใดๆ ต่อชีวิตบนผืนโลก ขณะนี้เรายังมีเวลาและโอกาสที่จะฟื้นฟูรักษาแผ่นดินแม่...” ด้วยพระราชปณิธานข้างต้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9จึงเสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าหนทางจะยากลำบากเพียงใด หรือต้องทรงงานโดยใช้เวลายาวนานเท่าใด จะทรงรับฟังทุกข์สุขของพสกนิกรที่มาเข้าเฝ้าฯ และรับเสด็จอย่างตั้งพระทัย และพระราชทานแนวทางการแก้ไขให้หน่วยงาน ราชการต่างๆ รับไปดำเนินการ สำหรับผู้สนใจเรียนรู้การทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จะพบว่า ในการช่วยเหลือพสกนิกรในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายนั้น “ทรงทำตามและยึดหลักแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” โดยตั้งอยู่บนหลักการที่สำคัญ 5 ประการ ประการแรก ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นฐานของประเทศ อันได้แก่ “ชนบท” ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหาร และ “เกษตรกร” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประการที่สอง ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มี “คน” เป็นศูนย์กลาง ประการที่สาม ทรงให้ความสำคัญกับ “โอกาส” ของราษฎรที่จะได้รับการพัฒนาหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นราษฎรในภูมิภาคใดของประเทศ นับถือศาสนา หรือพูดภาษาใดก็ตาม ไม่ทรงแบ่งแยกหรือเน้นเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทรงเห็นว่าราษฎรนั้นมีศักยภาพและความสามารถอยู่แล้ว เพียงแต่ให้โอกาสเขาได้ใช้ความรู้ความสามารถเท่านั้น ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ ประการที่สี่ ทรงให้ความสำคัญกับการ “พัฒนาด้านจิตใจ” ของคนในชาติให้มีคุณธรรมและจริยธรรม นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ประการที่ห้า ทรงให้ความสำคัญกับการทรงงานพัฒนาเพื่อ “เสริมและสนับสนุน” งานพัฒนาของรัฐบาล ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น และในโอกาสอันเป็นมหามงคลเวียนมาบรรจบเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาในครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยดลบันดาลให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงพระเกษมสำราญ และทรงสถิตย์เป็นพระมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดไป ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน