กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาห้องปฏิบัติการอณูวิทยาชั้นสูงสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ทั้งโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ ด้วยเทคนิคเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมและเทคโนโลยีเอ็นจีเอส เพื่อรองรับโรคข้ามพรมแดน ภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีบทบาทในการเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงในการตรวจวินิจฉัยเชื้อโรค เฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของเชื้อโรคร้ายแรงต่างๆ ตลอดจนภัยคุกคามสุขภาพและสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ทั้งจากโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้พัฒนาเพื่อรองรับการตรวจวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ โดยการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอณูวิทยาชั้นสูง เป็นห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมโดยเทคนิคเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม การหาลำดับนิวคลิโอไทด์ และเทคโนโลยีเอ็นจีเอส (Next generation sequencing technology) ที่มีความจำเพาะและความไวสูง โดยจัดตั้งที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขในส่วนกลาง และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ รับผิดชอบครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ โดยใช้ระบบการบริหารจัดการและระบบการ ส่งต่อตัวอย่างที่สอดคล้องตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) ในการเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับโรคข้ามพรมแดนภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการวินิจฉัยโรคร้ายแรง ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญแล้ว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขยังตรวจวินิจฉัยโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อนและ มีผลการศึกษาวิจัยน้อย ได้แก่ “โรคแมวข่วน” (cat scratch disease) อันมีสาเหตุจากเชื้อ Bartonella spp. โดยมีแมวเป็นสัตว์ รังโรคและ“หมัดแมว”เป็นพาหะนำเชื้อก่อโรค  คนมีโอกาสติดเชื้อผ่านรอยแผลถลอกที่เกิดจากการกัด ข่วนของแมว โดยคนปกติมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่จะมีอาการรุนแรงในคนที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ อาการทั่วไปที่พบ ได้แก่ ผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณใกล้รอยแผลกัด/ข่วน ไข้สูงลอย เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อาเจียน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อาการตับม้ามโตและอาการทางสมองอักเสบได้ ประเทศไทยมีรายงานการพบเชื้อนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้ทำวิจัยเรื่อง การเฝ้าระวังเชิงรุกต่อเชื้อนี้ในสัตว์ฟันแทะในประเทศไทยโดยวิธี multispacer sequence typing (MST) และผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยมของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2559 การตรวจวินิจฉัยนี้ใช้ระยะเวลาในการเพาะแยกเชื้อ 7–45 วัน และตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ Bartonella spp. โดยวิธีอณูวิทยา รวมทั้งการตรวจหาลำดับเบสของสารพันธุกรรมเชื้อได้ด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความพร้อมในด้านวิชาการและศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคชั้นสูง เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพของประชาชนจากเชื้อโรคต่างๆทั้งในปัจจุบันและอนาคต