กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมหม่อนไหม และสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สร้างความร่วมมือสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผนึก 3 องค์ความรู้สำคัญ “ภูมิปัญญาไหมไทย-งานออกแบบร่วมสมัย-การส่งเสริมการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ร่วมวิจัย-พัฒนาผลิตภัณฑ์ “ผ้าไหมไทย” เพื่อส่งเสริมให้เกิดผลประโยชน์องค์รวมต่อประเทศทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ขณะที่สส.เปิด 7 แนวทางยกระดับการผลิต ย้ำเป้าลดมลพิษตั้งแต่แหล่งกำเนิด ควบคู่จัดการของเสีย อนุรักษ์ทรัพยากรและพลังงาน นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทย และการออกแบบ” เพื่อส่งเสริมผ้าไหมไทย โดยร่วมกันวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีพิธีลงนามอย่างเป็นทางการ ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา “ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นความร่วมมือสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการต่อยอดผลงานวิจัย การพัฒนานวัตกรรม การจัดการ และงานออกแบบร่วมสมัย เพื่อส่งเสริมผ้าไหมไทยให้เกิดประโยชน์องค์รวมต่อประเทศเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน มีการถ่ายทอดความรู้และทักษะจากภูมิปัญญาด้านไหมไทยไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการสืบทอดต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายสากล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Production) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตสิ่งทอได้พัฒนายกระดับการผลิต โดยเน้นการลดมลพิษ ณ แหล่งกำเนิด เลือกใช้สีย้อมผ้าที่ไม่มีสาร Azo ที่เป็นอันตราย มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ภายใต้แนวทางการดำเนินงานสำคัญ 7 ประการ คือ 1.การวางนโยบายและแผนการผลิต เป็นการกำหนดแนวทางหรือข้อตกลงร่วมกันเพื่อผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.การออกแบบการผลิต วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์ เป็นการวางแผนการผลิตที่จะใช้วัตถุดิบ รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ตามความจำเป็นและป้องกันการเสียหายของผลิตภัณฑ์ 3.การจัดการกระบวนการผลิต ลดของเสียจากกระบวนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด และเลือกใช้สีเคมีที่ไม่มีสาร Azo ที่เป็นอันตราย หรือใช้สีย้อมจากธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช้สารช่วยย้อมที่อันตราย เช่น จุนสีหรือคอปเปอร์ซัลเฟต 4.การจัดการผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนจำหน่าย 5.มาตรการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 6.การจัดการของเสียจากกระบวนการผลิต อาทิ น้ำเสีย ขยะ และ 7.การอนุรักษ์ทรัพยากรและพลังงาน ได้แก่ การใช้พลังงานทางเลือกหรือชีวมวลที่มาจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร “ผลการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบการประเภทสิ่งทอเข้าร่วมโครงการกว่า 680 ราย และผ่านเกณฑ์ระดับดีเยี่ยม (G ทอง) 37 ราย ระดับดีมาก (G เงิน) 76 ราย และระดับดี (G ทองแดง) 134 ซึ่งองค์ความรู้จากโครงการดังกล่าว จะถูกนำมาใช้ต่อยอดส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดมลพิษได้ตั้งแต่แหล่งกำเนิด ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างมูลค่าทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกล่าว อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า ในส่วนการส่งเสริมสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคและเพิ่มช่องทางการตลาด (Green Market) รองรับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการที่จะผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้เข้าร่วมเป็นหน่วยงานภาคีในการจัดงาน “ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกล ด้วยพระบารมี” ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12-20 สิงหาคม 2560 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 เมืองทองธานี เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีโครงการพระราชดำริในการส่งเสริมอาชีพรายได้ของพสกนิกรทั้งประเทศ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี นายสากล กล่าวว่า การร่วมเป็นภาคีจัดงานครั้งนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “Green OTOP” ภายใต้แนวคิด “ภูษาอาภรณ์จากทรัพยากรธรรมชาติ” โดยนำผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ Green Product จากผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายสิ่งแวดล้อมมาออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายภายในงาน เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดสีเขียว (Green Market) ให้แก่ผู้ประกอบการ ทำให้มีพื้นที่รองรับผลิตภัณฑ์ และเกิดแรงจูงใจในการต่อยอดพัฒนาสินค้าไปสู่ระดับสากลต่อไป ดังนั้น จึงขอเชิญชวนคนไทยมาเลือกซื้อและสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลิตภัณฑ์ OTOP อื่นๆ ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 สิงหาคมนี้ บริเวณอาคารชาเลนเจอร์ 1 - 3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ตลอดจนสมาชิกกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความมั่นคงต่อไป