หนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมคือ “ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย” กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 มาตรา 9 ส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดและระดับอำเภอ สร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อเป็นแกนนำในการป้องกัน แก้ไขและเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมทั้งขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือการคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น ได้สร้าง “เครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN” ขึ้น ใน 76 จังหวัด 228 ตำบล เพื่อทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารสังคม รณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ผ่าน2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) จัดรายการวิทยุเสียงตามสาย ซึ่งจะต้องดำเนินการเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2) จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน โดยสอดแทรกเนื้อหาเรื่องเพศวิถีศึกษา ให้ชุมชนตระหนักถึงปัญหาและมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ล่าสุดได้ จัดงาน “มหกรรมสร้างสรรค์พลังบวกในเด็กและเยาวชนป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” พร้อมมอบรางวัลแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลการดำเนินงานพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่นดีเด่น ประจำปี 2560 โดยได้รับเกียรติจาก นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นประธานในพิธี โดยมี เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน DJ TEEN, เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว, เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ เครือข่ายที่สนับสนุนงาน DJ TEEN เข้าร่วมงาน ณ โรงแรม ทาวน์ อิน ทาวน์ กรุงเทพมหานคร ยอร์ช - ภูมิ สำหรับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีผลการดำเนินงานพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่นดีเด่น ประจำปี 2560 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 10 รางวัล ได้แก่ 1.การจัดรายการวิทยุ เสียงตามสาย (จำนวน 5 รางวัล) และ 2. จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (จำนวน 5 รางวัล ) โดย “รางวัลชนะเลิศ” รางวัลพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” มีดังนี้  กลุ่ม “เทศบาลตำบลช่อแฮ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่” 1. การจัดรายการวิทยุ เสียงตามสาย ได้แก่ กลุ่ม DJ TEEN “เทศบาลตำบลช่อแฮ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่” โดย ยอร์ช – ณรงค์ฤทธิ์ ปลาลาศ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ผมมองว่าเกิดจากตัวเรา สภาพแวดล้อม และเพื่อน แม้การคบหาดูใจในวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องแปลกในปัจจุบัน แต่ก็ต้องมีขีดจำกัดของตัวเอง สำหรับเทคนิคในการเสนอเรื่องเพศศึกษาคือการนำเรื่องใกล้ตัวมาถ่ายทอด ได้แก่ สาเหตุ การป้องกัน และการแก้ไข นอกจากนี้ยังให้ความรู้ในเรื่องของยาเสพติดและข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆด้วย สำหรับจุดแข็งที่ทำให้พวกเราได้รับรางวัลคือ เราทำงานกันเอง เด็กคิด- ผู้ใหญ่สนับสนุน จึงทำให้งานขับคลื่อนได้ด้วยดี โดยเราจะจัดรายการทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 18.00-18.30 น. ที่หอกระจายข่าวเทศบาลตำบลช่อแฮ และวันอาทิตย์ที่ สวท. จ.แพร่ ประมาณ 13.00-15.00 น. โดยสลับหมุนเวียนกับโครงการเยาวชนต่างๆ นอกจากนี้ในทุกๆครั้งที่เราจัดรายการจะมีไลฟ์สดผ่านเพจ “สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลช่อแฮ” ซึ่งผู้สนใจสามารถฟังสดหรือดูย้อนหลังได้  กลุ่ม “องค์การบริหารส่วนตำบลหาดส้มแป้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง” 2. การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ได้แก่ กลุ่ม DJ TEEN“องค์การบริหารส่วนตำบลหาดส้มแป้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง” โดย ภูมิ - ศุภกฤต อาภารัตนคุณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสแสดงตามพื้นที่ต่างๆในพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลและวัด โดยได้นำวัฒนธรรมท้องถิ่นของ ตำบลหาดส้มแป้นมาประยุกต์ใช้ในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น ด้วยการนำ “ระบำร่อนแร่” มานำเสนอ ร่วมกับการแสดงซึ่งจะมีตัวละครเข้ามาเสริมว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่น ผมคิดว่าเรื่องเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องจำเป็น ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง ถึงจะมีแฟนก็ควรจะช่วยกันเรียนหนังสือดีกว่า ทั้งนี้ตลอดปีงบประมาณที่ผ่านมา “กรมกิจการเด็กและเยาวชน” ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์รักเด็กในบ้านพักเด็กและครอบครัว 76จังหวัด เพื่อบริการให้ความช่วยเหลือแม่วัยรุ่นที่ประสบปัญหา สำหรับการสร้าง “เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน DJ TEEN” 228 เครือข่าย ใน 76 จังหวัด เพื่อดำเนินการสื่อสารชุมชน ตระหนักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในชุมชนท้องถิ่นตนเอง มีเด็ก เยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครองและคนในชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 40,000 คน