แม้ว่าตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตัวเลขอัตราว่างงานที่เปิดเผยโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ดี โดยลดลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน แต่ภาพรวมแล้วตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ก็ยังคงอยู่ในสภาวะตึงเครียด ขณะที่ "วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์" หรือ "วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ" หรือที่คนไทยเรียกว่า "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ซึ่งเกิดขึ้นปรากฎเด่นชัดในช่วงราว 10 ปีมาแล้ว จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าฟื้นกลับมาเหมือนเดิม นั่นทำให้ตัวเลข "คนไร้บ้าน" หรือ "โฮมเลส" (Homeless)ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และความเชื่อ รวมถึงอคติต่างๆ ที่มีต่อคนเหล่านี้อาจจะไม่ถูกต้องอีกต่อไป ด้วยคนเหล่านี้ถูกวิกฤติเศรษฐกิจเล่นงานจากในช่วงดังกล่าวที่ทำให้งานในตลาดแรงงานสหรัฐฯ หายไปหลายล้านตำแหน่ง หนังสือ "Extreme Domesticity" ที่ตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานนี้ของ ซูซาน ไฟร์แมน ได้ตรวจสอบบริบททางประวัติศาสตร์ของคนเร่ร่อนไร้บ้าน และพบข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ ว่าตอนนี้เราไม่สามารถมองคนไร้บ้านแบบเหมารวมว่าเป็น "พวกสิ้นหวัง" (Hopeless) เช่น คนแปลกแยกจากสังคม คนไร้ค่า คนติดเหล้า คนติดยา อาชญากร คนป่วยจิต ได้อีกแล้ว เพราะบริบทที่เปลี่ยนไปเราพบว่า คนไร้บ้านยุคหลังจำนวนไม่น้อยเป็นคนที่กำลังปากกัดตีนถีบดิ้นรนอย่างสุดกำลังเพื่อที่จะสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของตัวเองอย่างไม่ได้งอมืองอเท้า และนี่คือบางส่วนของความอยุติธรรม ที่คนไร้บ้านในสหรัฐฯ ในปัจจุบันยังถูกมองแบบผิดๆ ๐ คนไร้บ้านเป็นปัญหาเฉพาะเมืองใหญ่ Endhomelessness.org ประมาณการว่ามีคนไร้บ้านราวครึ่งล้านอาศัยอยู่ตามที่พักพิงฉุกเฉิน หรือตามท้องถนนในสหรัฐฯ ตามเมืองใหญ่ต่างๆ แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นแค่การคาดเดาเพราะแท้จริงแล้วยากมากที่จะทราบจำนวนที่แน่ชัดของคนไร้บ้าน ซึ่งเชื่อว่าอีกสัก 2 แสนคนอยู่ตามชนบท แน่นอนว่าเมืองใหญ่ย่อมดึงดูดคนกลุ่มนี้มากกว่า เพราะอย่างน้อยก็เต็มไปด้วยทรัพยากร ในขณะที่ ตามเมืองเล็กๆ คนไร้บ้านจะใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากมาก และด้วยความที่ยากแก่การเข้าถึงบริการของรัฐ เหตุนี้เองจึงยากจะสำรวจจำนวนที่แท้จริงได้ จึงทำให้ปัญหาคนไร้บ้านถูกมองว่ามีเฉพาะในเมืองใหญ่ ๐ คนไร้บ้านเป็นคนขี้เกียจ "ทำงานเพื่อปากท้อง" เป็นเรื่องปกติของคนส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงคนที่นอนตามท้องถนน มันยากมากที่จะหางานที่เป็นงานจริงๆ ทำได้ นั่นไม่ใช่เพราะพวกเขาขี้เกียจ แต่เป็นเรื่องของโอกาส กระนั้นก็ยังมีคนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยที่มีงานทำ คนไร้บ้านประเภทที่เสียบ้านไป แต่ยังไม่ตกงาน ก็อาจจะอาศัยนอนในรถ ฮัฟฟิงตัน โพสต์ รายงานผลสำรวจโดยมหาวิทยาลัยซีแอตเติลพบว่า ร้อยละ 30 ของคนไร้บ้านที่ไม่ได้อยู่ตามศูนย์พักพิง พวกเขาอาศัยในรถของตัวเอง และคนกลุ่มนี้ก็ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตเช่นเดียวกับเมื่อครั้งยังมีบ้านให้อยู่อาศัย โดยเฉพาะที่อยู่บนครอบครัว เพราะแม้จะเสียบ้านไป แต่เด็กๆ ก็ยังต้องไปโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะคิดถึงการกลับไปมีบ้านอีกครั้ง ก่อนอื่นคนพวกนี้ต้องคอยหาที่จอดรถที่ปลอดภัยจากปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ก่อน ๐ คนไร้บ้านไม่มีการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า มีเด็กวัยเรียนไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน เป็นนักเรียนไร้บ้านอยู่ในระบบโรงเรียนของรัฐ (เกรด 1 - 12 ) ขณะที่ ในระดับวิทยาลัยพบว่า นักศึกษาที่เป็นคนไร้บ้านมีมากถึงประมาณ 5.8 หมื่นคน บ้างก็อาศัยนอนในรถ บ้างก็อาศัยนอนตามมุมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนั่นแหละ เช่น ตามม้านั่ง สนามหญ้า ห้องสมุด โดยอาศัยอาบน้ำตามห้องอาบน้ำของยิม รับประทานอาหารที่นักเรียนคนอื่นทางเหลือไว้ตามโต๊ะในโรงอาหาร สิ่งที่ทำให้คนไร้บ้านพวกนี้ยังคงดื้นรนเรียนหนังสือต่อไป เพราะพวกเขาเชื่อว่าความรู้จะทำให้หลุดพ้นความยากจน การสำเร็จการศึกษาหมายถึงการมีโอกาสที่จะได้งานที่ดีนั่นเอง แต่นั่นอาจจะไม่สวยงามอย่างที่คิด เพราะตอนนี้ปัญหาเงินกูเพื่อการศึกษาในสหรัฐฯ กำลังลุกลามขึ้นทุกที เมื่อพบว่านักศึกษาที่กู้เงินเรียน พอเรียนจบก็ต้องใช้หนี้มหาศาล เลยทำให้บางทีอาจจะต้องเป็นคนไร้บ้านไปทั้งชีวิต ๐ คนแก่ ขี้เมา ขี้ยา คนป่วยจิต คนขาว ประชากรคนไร้บ้านในสหรัฐฯ นั้นมีหลากหลาย "เฮาซิง แอนด์ เออร์บาน ดิเวลอปเมนต์" ทำการสำรวจพบว่า ร้อยละ 33 ของคนไร้บ้านอายุต่ำกว่า 24 ปี และร้อยละ 37 มีครอบครัว ซึ่งในแต่ละปีจะมีคนสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 20 ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ด้สัมผัสรสชาติความเป็นคนไร้บ้าน และความเป็นจริงที่โหดร้ายร้อยละ 60 เป็นผู้หญิงที่มีเด็ก ขณะที่ร้อยละ 40 เป็นผู้ชายที่มีเด็ก ซึ่งพวกเขา และเธอเหล่านี้เป็นคนไร้บ้านที่หลบหนีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ในมุมของเชื้อชาติพบว่า คนไร้บ้านในสหรัฐฯ เป็นคนผิวสีร้อยละ 42 คนละตินร้อยละ 20 คนเอเชียร้อยละ 2 และคนที่เป็นคนสหรัฐฯ จริงๆ ร้อยละ 4 แน่นอนคนแก่ ขี้เมา ขี้ยา ป่วยจิต ก็มีแต่ตอนนี้คนกลุ่มนี้เป็นคนส่วนน้อยไปแล้ว เพราะที่มาของเหตุผลที่ทำให้ต้องเป็นคนไร้บ้านในยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจเปลี่ยนไปนั่นเอง ๐ ไร้บ้านคือทางเลือก ไร้บ้านไม่ใช่ทางเลือก คนไร้บ้านบางคนอาจจะต้องตกอยู่ในสภาพนี้ เพราะยาเสพติด แอลกอฮอล์ หรือปัญหาทางจิต ในส่วนของปัญหาทางจิต พวกเขาต้องการการดูแล แต่น่าเสียดายบริการทางการแพทย์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในสหรัฐฯ นั้นยังคงไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับปัญหาติดยาเสพติด และแอลกอฮอล์ นอกจากนี้คนไร้บ้านที่เป็นวัยทีนเอจไม่น้อย จำต้องออกมาอยู่ข้างนอกเพราะถูกโยนออกมา เช่นในครอบครัวที่พ่อแม่รับไม่ได้กับเรื่องของเพศทางเลือก เช่นเดียวกับกลุ่มทหารผ่านศึก กลุ่มนี้มักต้องเผชิญกับภาวะความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ ทำให้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเยี่ยงคนปกติยาก เหล่านี้เองถึงได้กล่าวว่า การเป็นคนไร้บ้านไม่ใช่ทางเลือก แต่พวกเขาตกอยู่ในสภาพนั้นโดยไม่เต็มใจต่างหาก