นายวิจิตต์ นิมิตวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มียุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมศักยภาพคน และการสร้างโอกาสความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในระยะ 20 ปี ซึ่งได้มุ่งเน้นการเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาค และเท่าเทียม (Inclusive Transport) โดยต้องการยกระดับการขนส่งให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ทุกกลุ่ม (Universal Design/Transport for all) ทั้งกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึง (Accessible) บริการระบบขนส่งมวลชน และระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการบริการภาคขนส่งสำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม กระทรวงคมนาคม โดย สนข. จึงได้จัดฝึกอบรมในเรื่องดังกล่าว เพื่อพัฒนา และฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการคนพิการทุกประเภท ให้มีความรู้และทักษะที่ถูกต้องในการบริการ และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่ง โดยแบ่งออกเป็น2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 การอบรมความรู้ด้านการออกแบบ ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดสิ่งอำนวย ความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและกฎหมาย มาตรฐาน ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการภาคขนส่งสำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุ ทั้งในส่วนของภายนอกอาคาร ภายในอาคาร ชานชาลา และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับยานพาหนะทั้ง 6 ประเภท ได้แก่ รถโดยสาร รถยนต์สาธารณะ รถไฟ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร และอากาศยานขนส่ง เพื่อให้ผูสำเร็จจากการอบรมสามารถมีความรู้เบื้องต้นด้านการออกแบบ ตรวจสอบและประเมินสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับภาคขนส่งในความรับผิดชอบได้อย่างถูกต้อง หลักสูตรที่ 2 การอบรมด้านทักษะการบริการแก่คนพิการและผู้สูงอายุ มุ่งเน้นการสร้างความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการแต่ละประเภท และผู้สูงอายุ การแนะนำอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการช่วยเหลือคนพิการ หลักปฏิบัติ และวิธีการให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้อง ทักษะในการสื่อสารที่มีความจำเป็นต่อการให้บริการ ผ่านการจำลองในฐานการพัฒนาทักษะการบริการสำหรับคนพิการประเภทต่างๆ และผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สำเร็จการอบรมมีทักษะในการให้บริการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งสร้างจิตบริการ และความเข้าใจในความสูงอายุ และความพิการประเภทต่างๆ นายวิจิตต์ กล่าวว่า ทั้งนี้การฝึกอบรมทั้งสองหลักสูตรนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนา และผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญในด้านการให้บริการ และให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการทุกประเภทและผู้สูงอายุ และในด้านการออกแบบ ตรวจประเมิน และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสถานที่ และยานพาหนะต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ ระบบขนส่งที่เท่าเทียม หรือ Inclusive Transport ซึ่งเป็นมิติหนึ่งในยุทธศาสตร์คมนาคม โดยคาดหวังว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะสามารถนำความรู้ และทักษะที่ได้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน ตามเป้าหมายของการอบรมหลักสูตรนี้ที่ว่า “Better Access Better Service Better Transport Better Life for All.”