อุทุมพร เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
ปริญญาชีวิต ปริญญาบัตร "กลุ่มแรงงานไทยในสิงคโปร์" พิสูจน์ความสำเร็จ "การศึกษา" ของคนไกลบ้าน
ในการรับพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ปีนี้ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น นอกจาก "คุณยายกิมหลั่น จินากุล" แม่อุ๋ยชาวจังหวัดพะเยา วัย 91 จะถือเป็นความภาคภูมิใจและแบบอย่างที่ดีของสังคมด้านความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคจนสามารถคว้าใบปริญญาบัตร อย่างงดงามแล้ว ยังพบว่า ในงานเดียวกัน ยังมี "กลุ่มแรงงานไทยในสิงคโปร์" จำนวน 10 ราย ที่ได้มีโอกาสเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร อีกด้วยเช่นกัน จากความทุ่มเท ความอดทน ของกลุ่มแรงงานไทยในสิงคโปร์ ที่ฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ ในครั้งนี้ ต้องนับว่าพวกเขาล้วนแล้วแต่ผ่านความยากลำบาก แต่ไม่มีใครยอมท้อถอย ต่างอดทนสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา และความรู้จนเกิดเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มแรงงานไทย ที่ไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ ด้วยเห็นความสำคัญของการศึกษา แม้จะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาหลายปีก็ตาม สำหรับกลุ่มแรงงานไทยในสิงคโปร์ กลุ่มดังกล่าวที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ระดับปริญญาตรี จาก มสธ.นั้น ได้ใช้วิธีการเรียนผ่านระบบการศึกษาสำหรับคนไทยในต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักบริหารการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาตลอดชีวิตให้กับคนไทยในต่างประเทศได้เพิ่มพูนความรู้ และเพิ่มคุณวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มีคุณภาพ ทั้งนี้ มสธ.มีศูนย์บริการอยู่ในประเทศต่างๆ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย บรูไน เมืองฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (เมืองดูไบ)เพื่อเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจ "ศักดิ์ศรี โพนทอง" ประธานชมรมนักศึกษามสธ.สิงคโปร์ ปัจจุบันอายุ 40 ปี ทำงานเป็นช่างซ่อมบำรุง ของ SCB BUILDING CONSTRUCTINON PTE LTD. โดยอยู่สิงคโปร์มานานถึง 16 ปี ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญทำหน้าที่ในการประสานกับภาครัฐ และให้ความช่วยเหลือเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ ซึ่งได้เดินทางร่วมคณะเพื่อนๆ แรงงานไทยจากสิงคโปร์ กลับมาประเทศไทย เพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในปีนี้ ส่วนศักดิ์ศรี เองมีกำหนดเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในปี 2561 ศักดิ์ศรี ได้เปิดเผยกับ "สยามรัฐ" ว่า โดยส่วนตัวแล้วได้มาทำงานอยู่สิงคโปร์นานถึง 16 ปีแล้ว เดิมจบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาที่ประเทศไทย จากนั้นก็มาเรียน กศน.จนจบ ม.3 จากนั้นไปเป็นทหารอีก 2 ปี ก็จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วมาสอบช่างเหล็กเพื่อที่จะได้มาทำงานที่สิงคโปร์ "วันหนึ่งผมก็ได้ไปที่โกลเดนท์ ไมด์ ที่สิงคโปร์ โดยส่วนตัวแล้วผมต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อที่จะอัพเกรดตัวเองอยู่แล้ว ผมชอบการเรียน แต่เนื่องจากครอบครัวเราไม่สามารถส่งเสียได้ จึงใช้เส้นทาง ทางอาชีพในการส่งเสริมการศึกษาของตนเอง เดิมผมก็ไปเป็นเด็กอู่มาก่อน ตอนไปเดินที่โกลเด้นท์ ไมด์ ก็เห็นป้ายประกาศของนักศึกษาที่จะมีการสอบ เราสนใจ จึงเข้าไปสอบถาม แต่ในขณะนั้นผมยังไม่สามารถเข้าศึกษาได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก และอีกอย่างเราเองเพิ่งจะเดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ใหม่ ๆ พร้อมกับหนี้ก้อนโต ผมก็เลยถอย แต่วันนั้นผมมองเห็นแล้วว่า นี่คือหนทางด้านการศึกษาสำหรับผม" ศักดิ์ศรี เล่าถึงที่มาของการรวมตัวของกลุ่มแรงงานไทยในสิงคโปร์ ว่าเดิมก่อนหน้านี้เมื่อปี 2544 มีรุ่นพี่ได้รวมตัวดำเนินการกันมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษาชุดแรก มีด้วยกัน 7คนเพื่อช่วยเหลือสำนักงานในเบื้องต้น เพราะมีเจ้าหน้าที่เพียง 5 คนในการกระจายข่าว ต่อมามีการรวมตัวกันมากขึ้น และนี่คือจุดเริ่มต้นการจัดตั้งสมาคมเพื่อนแรงงานไทย เพื่อเข้าไปสานต่อในสิ่งที่รุ่นพี่ ได้ทำเอาไว้แล้ว เพื่อช่วยเพื่อนนักศึกษา ช่วยงานราชการ ทำอาสาสมัครของชมรมเพื่อนแรงงานไทยอยู่เหมือนเดิม "การศึกษา" สำหรับผู้ที่ต้องไปทำงานในต่างแดน ย่อมมีความลำบากไม่น้อย แต่ศักดิ์ศรี บอกว่าโดยส่วนตัวแล้วชอบการเรียน แต่ด้วยข้อจำกัดของฐานะ อย่างไรก็ดี เมื่อเรามองเห็นแล้วว่า การเรียนนั้นจะมีผลต่อการงานของเราเอง เพราะขณะที่เราอยู่สิงคโปร์ ไม่ว่าเราจะเป็นคนชั้นสอง ชั้นสาม อย่างไรก็ตาม แต่เราต้องอัพเกรดตัวเอง อีกทั้งนโยบายรัฐบาลสิงคโปร์ ที่กำหนดว่าแรงงานหนึ่งคนจะต้องมีความสามารถมากกว่า 1 อย่าง ซึ่งเคยบังคับมาใช้แล้ว 1 ครั้งจนส่งผลให้มีแรงงานต้องไหลออกจากสิงคโปร์จำนวนมาก จนต่อมามีการผ่อนผันการบังคับใช้มาเรื่อยๆ ทั้งนี้ มีแรงงานอยู่สองประเภทคือ 1 ยังมีแรงที่จะพัฒนาตัวเอง กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือมองว่าแค่ส่งเสียลูกจบปริญญาตรี ก็จะไม่ทำงานที่สิงคโปร์แล้ว แต่สำหรับกลุ่มของตนเองนั้น เลือกที่จะชักชวนกันมาเพื่อหาทางศึกษาต่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเพื่อนแรงงานต่างก็มีภาระหน้าที่ บางคนมีครอบครัวที่ต้องดูแล แต่เราก็พยายามช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจกัน "หน้าที่หลักของเรา คือการส่งเงินกลับมาบ้าน แต่เรื่องเรียนเราก็ไม่ทิ้ง เมื่อไหร่ที่เราท้อ แต่เราจะไม่ยอมถอย เพื่อน ๆ หลายคนมีปัญหาแตกต่างกันมาก ถ้ามองดูแต่ละคนก็ถือว่าหนักหนาสาหัส เราไปอยู่ที่นั่นก็ไม่ได้สบายอย่างที่ทุกคนคิด เราก็อยู่กันตามอัตภาพ เราต้องพยายามอัพเกรดตัวเอง ผมไปที่นั่นเพื่อไปสร้างอนาคต แต่ผมไม่ได้เอาอนาคตไปทิ้งไว้ที่นั่น นี่คือจุดมุ่งหมาย เมื่อไหร่ที่เราท้อ เราก็จะกลับไปคิดถีงจุดเริ่มต้นว่า กว่าที่เราจะได้มาทำงานที่นี่ เราเป็นหนี้มาเท่าไหร่ ต้องเอาบ้าน เอาที่นา ที่ดินไปจำนองกว่าเราจะฝึกจะทดสอบจนผ่านได้มาทำงาน ผมผ่านปัญหามาทุกจุด แม้กระทั่งการโดนหลอก ก็เคยมาแล้ว" ศักดิ์ศรี ได้ถ่ายทอดถึงความรู้สึกในวันที่ได้เห็นเพื่อน ๆ แรงงานไทยเข้ารับปริญญา ว่าในปีนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าปลาบปลื้มใจมาก เนื่องจากเป็นการรับพระราชทานปริญญาบัตรจากในหลวง รัชกาลที่ 10 เป็นชุดแรกของกลุ่มแรงงานไทยในสิงคโปร์ ประจำปีการศึกษา 2558 ซึ่งจบการศึกษาด้วยการทั้งสิ้น11 ท่าน แต่ที่เดินทางกลับมารับปริญญา จำนวน 10 ท่าน ที่เราตามเจอ 9 ท่าน อีกท่านยังตามหาไม่เจอ "ผมลางานมาเพื่อมาร่วมงานนี้กับเพื่อนๆ โดยเฉพาะ สิ่งที่ผมเห็นในวันรับปริญญา คือรอยยิ้มของพวกเขา ผมเองก็ปลื้มใจไปด้วย ผมน้ำตาซึมเลย ผมมีความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือ ให้กำลังใจให้เพื่อนได้ก้าวผ่านความยากลำบาก ณ จุด ๆ หนึ่งเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน เราต้องช่วยเหลือตัวเองกันในทุก ๆ ด้าน กว่าจะฝ่าฟันกันมาได้ ทั้งการบริหารเวลา อุปสรรคอย่างหนึ่งคือที่นั่นจะนอนเป็นเวลา ที่พักก็จะปิดไฟเป็นเวลา พอถึงเวลา 4ทุ่มก็จะยุติการทำงานทั้งหมด เราจะอ่านหนังสือไม่ได้ เลย จนบางทีเราก็ต้องมาอ่านหนังสือตามข้างทาง ที่มีไฟส่องสว่าง แต่ลำบาก เราก็ต้องทำให้ได้" ทั้งนี้ ศักดิ์ศรี บอกว่าตนเองมีกำหนดเข้ารับปริญญา ระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ วิชาเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปี 2561 หลังจากใช้เวลาเรียน 8 ปี
"สิ่งที่ผมอยากจะฝาก คือ ถึงแม้เราจะท้อ แต่อย่าถอย เมื่อไหร่ที่เราเกิดปัญหาก็ขอให้มองไปที่จุดเริ่มต้นกว่าเราจะมาเป็นนักศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่จะจบก็เป็นเรื่องยากกว่า ขอให้ดูบัณฑิตปีนี้ที่อายุมากถึง 91 ปี เรื่องอายุไม่ใช่ประเด็น แต่ขอให้มองไปที่จุดมุ่งหมายว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร เมื่อเราเจอปัญหาแล้ว เราต้องไม่ถอย"
และสำหรับหนึ่งในกลุ่มบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งนี้ คือ "ปนัดดา นาคคำ" ผู้หญิงไทยอีกคนหนึ่งที่ได้ไปใช้ชีวิตครอบครัวและทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนสามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตร์ เอกสารสนเทศทั่วไป ตามที่เธอได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ปัจจุบันได้ย้ายตามสามีไปใช้ชีวิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้หลาย ๆ ครั้งอาจจะรู้สึกท้อ แต่เธอไม่ยอมถอย จนในที่สุดสามารถมีวันที่เธอเองได้สวมชุดครุยคว้าใบปริญญา มาครอง ซึ่งครอบครัวที่อยู่เมืองไทย ต่างมาร่วมยินดี และปลาบปลื้มไปกับเธอ ปนัดดา เล่าว่า ก่อนเดินทางไปใช้ชิวิตที่สิงคโปร์ ติดตามสามีไปสร้างครอบครัวที่นั่น เธอเองยังไม่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบการศึกษาหาความรู้ เมื่อพบช่องทางการศึกษาทางไกลสำหรับคนไทยในต่างประเทศ ที่สิงคโปร์ เธอเองจึงไม่รอช้า วิ่งเข้าหาโอกาส และมุ่งมั่น ทุ่มเทให้กับการเรียนอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันปนัดดา ยอมรับว่าการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ดูแลรับผิดชอบครอบครัวพร้อมกันไปด้วยนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องอาศัยการบริหารจัดการทุกด้านในชิวิตให้ลงตัวมากที่สุด "เมื่อเราเกิดความรู้สึกท้อ เพราะเราเหนื่อย ต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย แต่ก็พยายามอดทนสู้เรื่อยมา เราต้องการที่จะเพิ่มพูนความรู้ เพิ่มขีดความสามารถให้กับตัวเอง บางครั้งก็รู้สึกท้อใจ เวลาที่เราสอบบางวิชาแล้วยังไม่ผ่าน ก็อาศัยได้พูดคุย และให้กำลังใจกันเอง กับเพื่อน ๆ คนไทยที่ลงเรียนด้วยกัน" ปนัดดา บอกว่าตัวเธอเองนั้นใช้เวลาในการเรียนปริญญาตรี นานถึง 8 ปี แต่เมื่อวันรับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราก็รู้สึกภาคภูมิใจ ปลาบปลื้มใจ กับสิ่งที่เราอดทน และทุ่มเทตลอดมา ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง สามี ก็ให้กำลังใจ และชื่นชมกับความสำเร็จของเรากันทุกคน "วันที่เรารับปริญญาจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรารู้สึกปลาบปลื้มใจ ดีใจจนน้ำตาซึม และเมื่อมองย้อนกลับไปกับสิ่งที่เราพยายามมาทั้งหมด ถือว่าเราตัดสินใจเลือกทางที่ถูกต้องแล้ว การศึกษาสำหรับแรงงานไทยในต่างประเทศนั้นมันค่อนข้างยากลำบากกว่าคนที่ได้เรียนอยู่ในประเทศไทย อย่างแน่นอน เพื่อน ๆ ที่เรียนด้วยกันต่างก็ใช้เวลาเรียนกันหลายปี เวลาใครท้อ ก็ให้กำลังใจกัน พยายามช่วยๆ กัน จนในที่สุด พวกเราก็มีโอกาสได้รับปริญญาพร้อมกัน" ปนัดดา บอกว่า การศึกษาสำหรับเธอนั้นถือว่ามีความหมาย มีความสำคัญมาก เมื่อมีโอกาสก็ต้องพยายามทำให้เต็มที่ แม้จะเหนื่อยจะท้อแต่ไม่เคยคิดล้มเลิก ----------------------