กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, ชมรมคอลัมนิสต์นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย, กองทัพภาคที่ 3, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกับจังหวัดพะเยา, องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)พะเยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ กว่า 1,500 คนร่วมโครงการ “ปลูกป่าประชารัฐ ฟื้นฟูต้นน้ำยม” โดยมีกิจกรรมปล่อยปลาในลำน้ำควร บริเวณคุ้งจันทร์ ต.ขุนควรและบริเวณจุดเชื่อมของลำน้ำควรและลำน้ำงิม ต.นาปัง การสร้างฝายน้ำล้นในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านค่าไพบูลย์ และการปลูกป่า ที่บ้านใหม่ต้นฝาง ต.ออย อ.ปง จ.พะเยา นายจรัญ กาญจนปัญญานนท์ นายอำเภอปง กล่าวว่า บริเวณพื้นที่ อ.ปง เป็นจุดรวมของลำน้ำควรและลำน้ำงิม อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำยม 1 ใน 4 แม่น้ำสายสำคัญของประเทศ เป็นเพียงแม่น้ำสายเดียวที่ขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ไม่มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่สามารถจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็นของเกษตรกรและชาวชุมชนใน 7 หมู่บ้าน 88 ตำบล หรือราว 52,000 คนอย่างเพียงพอ และความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะนำไปสู่การรักษาน้ำต้นทุน รวมถึงเป็นการสร้าง กระตุ้น และปลุกจิตสำนึกของทุกฝ่าย ได้หันมาให้ความสนใจและความสำคัญกับการปลูกป่าและฟื้นฟูแหล่งน้ำ โดยเฉพาะโครงการนี้ถือเป็นการจุดประกาย "การปลูกป่าในใจคน" ของชาว อ.ปง และพี่น้องชาว จ.พะเยา ด้านายวรวิทย์ บุรณศิริ นายก อบจ. พะเยา กล่าวว่า ทุกวันนี้ จ.พะเยา มีน้ำต้นทุนที่ไหลมาจากภูเขาย่อยของเทือเขาผีปันน้ำแต่ละปีมากกว่า 1พันล้าน ลบ.ม. แต่เนื่องจากบริเวณต้นน้ำยมแห่งนี้ไม่มีเขื่อนและฝายสำหรับกักเก็บน้ำ ทำให้มวลน้ำส่วนใหญ่ไหลลงแม่น้ำสายสำคัญและออกสู่ทะเลโดยเปล่าประโยชน์ และบางครั้งมวลน้ำที่ว่านี้ อาจไหลไปร่วมกับมวลน้ำก้อนอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือน เรือกสวนไร่น่าในพื้นที่ตอนล่าง อันเป็นปลายทางของน้ำที่ไหล ไม่ว่าจะในพื้นที่ภาคกลางหรือแม้แต่กรุงเทพฯและปริมณฑล "ทุกวันนี้ เกษตรกรและพี่น้องชาว อ.ปง ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำต้นทุนเพียง 19 ล้าน ลบ.ม. หรือราว 19% เท่านั้น ดังนั้น ทาง จ.พะเยา จึงมีแนวคิดที่จะจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ 2-3 แห่ง ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการกักเก็บน้ำไว้ในยามจำเป็น ทั้งเพื่อการเกษตร อุปโภคและบริโภค หากยังเป็นการวางแผนรับมือในยามที่มีมวลน้ำมากเกินปกติ อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านการวางแผนและบริหารจัดการน้ำแก่พี่น้องชาวบ้านใน อ.ปง และชาว จ.พะเยา อีกทั้งยังเป็นสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยแก่พี่น้องในพื้นที่ตอนล่างของจังหวัดต่างๆ ตามเส้นทางน้ำไหลผ่านอีกด้วย" นายก อบจ.พะเยา ระบุ ขณะที่นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ประธานสภาอบจ..พะเยา กล่าวว่า ขณะนี้ ทาง อ.ปง จ.พะเยา วางแผนจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 จุด ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำปี้ ที่สามารถกักเก็บไว้ได้มากถึง 96 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำลู เก็บน้ำได้อีก 11.5 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำเมาะ อีก 4.5 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงจัดทำพื้นที่กักเก็บน้ำย่อยบริเวณชุมชนต่างๆ อีกราว 2 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำรวมเพื่อการกักเก็บราว 300 ล้าน ลบ.ม.ทั้งนี้ หากสามารถสร้างฝายเพื่อการกักเก็บน้ำจำนวนนี้ได้ เชื่อมั่นว่า จ.พะเยาก็สามารถจะบริหารจัดการน้ำจากแหล่งต้นน้ำจำนวนกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. ได้อย่างแน่นอน ส่วนนายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวในฐานะตัวแทนกลุ่มคน องค์กรและหน่วยงานนอกพื้นที่ว่า นับเป็นสำเร็จในเบื้องต้นกับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ต่อการจะฟื้นฟูต้นน้ำยม ผ่านการปลูกป่าเพื่อฟื้นคืนธรรมชาติ และสร้างฝายน้ำล้นเพื่อการบริหารน้ำอย่างมีความเหมาะสม ซึ่งชมรมคอลัมนิสต์ฯ พร้อมจะประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการเพิ่มพื้นที่ป่าและเพิ่มจำนวนฝายน้ำล้นให้ได้มากยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป โครงการรณรงค์ปลูกป่าประชารัฐฟื้นฟูต้นน้ำยม ทางชมรมคอลัมนิสต์ฯและพันธมิตรจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้รับความร่วมมือด้วยดี ทั้งจากส่วนราชการต่างๆใน จ.พะเยา องค์กรบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดี