สนข. จัดสัมมนาฯ“ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....” หวังมุ่งพัฒนาศักยภาพของระบบขนส่งมวลชนผ่านระบบตั๋วร่วม ก่อประโยชน์ทั้งรัฐ ผู้ประกอบการ และ ผู้ใช้บริการ นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า การสัมมนารับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อ “ร่างพระราชบัญญัติ การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....” ได้ดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing System) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 เพื่อจัดทำนโยบายกำหนดมาตรการ/มาตรฐานระบบตั๋วร่วม ดำเนินการจัดหาผู้พัฒนาระบบตั๋วร่วมและจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) และการกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้พัฒนาระบบ รวมทั้งการดำเนินงานอื่นๆ ที่เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมให้ประสบความสำเร็จ เป็นการ เพิ่มศักยภาพการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในภาพรวม ให้ประชาชนได้รับ ความสะดวกสบายในการเดินทางและเชื่อมต่อระหว่างระบบรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง เรือโดยสาร และทางพิเศษ นางวิไลรัตน์ กล่าวว่า การจัดทำระบบตั๋วร่วมเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และต้องการให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทาง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพิ่มศักยภาพของระบบขนส่งมวลชนด้วยระบบที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นผ่านระบบตั๋วร่วม เป็นการอำนวยประโยชน์ ทั้งแก่ภาครัฐ ผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้ใช้บริการทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งนี้การจัดทำระบบตั๋วร่วมต้องอาศัยกลไกด้านกฎหมายในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน และขอบเขตความร่วมมือการให้บริการ การมอบอำนาจหน้าที่ และกำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ การดำเนินงานที่มีความชัดเจน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ระบบตั๋วร่วมและระบบขนส่งในประเทศไทย ดังนั้น สนข.จึงได้จัดสัมมนาขึ้นในวันนี้ โดยเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... เพื่อรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและมีความเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1. โครงสร้างองค์กรที่มีหน่วยงานรับผิดชอบงานในระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล และระดับปฏิบัติการ ที่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน และสามารถดำเนินการด้านระบบตั๋วร่วมโดยตรง 2. มีหน่วยงานกำหนดมาตรการ/มาตรฐาน หลักเกณฑ์ วิธีการเชื่อมต่อ เพื่อให้การใช้งาน และการให้บริการระบบตั๋วร่วมมีมาตรฐานเดียวกัน และมีหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม รวมถึงกำหนดกรอบโครงสร้างอัตรา ค่าโดยสารร่วม 3. มีหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมเพื่อให้การให้บริการระบบตั๋วร่วมของผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะมีมาตรฐานเดียวกัน ,4. มีกองทุนบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมซึ่งเป็นเครื่องมือในการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาระบบตั๋วร่วม และ/หรือระบบขนส่งสาธารณะ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ และ5. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว และได้รับส่วนลดค่าเดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบจากการใช้ตั๋วร่วม รวมถึงการได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้วย นางวิไลรัตน์ กล่าวว่า สนข. จะนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ไปประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... อย่างรอบด้านและเป็นระบบ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อไป