กาฬสินธุ์ : เมื่อเร็วๆนี้ ที่แหล่งน้ำสาธารณะหนองทุ่ม บ้านเหล่าสูง ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ คำดี ผวจ.กาฬสินธุ์ พ.อ.สมบัติ จินดาศรี รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายธนูสินธุ์ ไชยสิริ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายเกรียงไกร กิริวรรณา นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นายสุทธิดล วงษ์จันฬา ผอ.สถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ นายเอกพงษ์ ศรีโคตร นายกเทศมนตรีห้วยโพธิ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำท้องถิ่นร่วมกันรณรงค์โครงการบำบัดน้ำเสียอุทกภัยน้ำแช่ขัง โดยน้ำหมัก พด.6 ภายในสระเก็บน้ำเพื่อการประปาหนองทุ่ม ซึ่งใช้เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาให้กับประชาชนในบ้านเหล่าสูง ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 150 ครัวเรือน เพื่อบำบัดน้ำเสียให้กลับคืนสภาพใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม หลังประสบปัญหาอุทกภัยจากพายุตาลัส และ พายุเซินกา ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และปัจจุบันน้ำที่ท่วมขังมีสภาพเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อน เนื่องจากไม่สามารถนำน้ำไปผลิตน้ำประปาเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคได้ นายสุวิทย์ กล่าวว่า จากผลกระทบของพายุตาลัส และ พายุเซินกาในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560 ส่งผลให้พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เกิดความเสียหายในทุกด้าน ทั้งด้านการเกษตร ด้านคมนาคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสาธารณสุข และที่สำคัญเกิดน้ำแช่ขังในบริเวณชุมชน โดยเฉพาะบ่อน้ำที่ใช้กักเก็บน้ำไว้เพื่อผลิตน้ำประปาอุปโภค บริโภค มีสภาพเหม็นเน่า ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดโรคภัยด้านสุขภาพได้ ดังนั้นทาง จ.กาฬสินธุ์จึงมอบหมายให้ทางสถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ช่วยบำบัดน้ำเสีย โดยใช้นวัตกรรมของกรมพัฒนาที่ดิน คือการใช้น้ำหมักชีวภาพ พด.6 ซึ่งเป็นน้ำหนักชีวภาพที่ช่วยบำบัดน้ำเสียให้กลับคืนสภาพใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอีกด้วย สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบทั้ง 18 อำเภอ 126 ตำบล 1,276 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 307,411 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ 14 อำเภอ โดยปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 13 อำเภอ แต่ยังเหลืออีก 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และ อ.ร่องคำ ที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อยู่ในขณะนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบและเป็นพื้นที่รับน้ำ จากการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว ผ่านทางลำน้ำปาวและลำน้ำพาน ก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำชี