เมื่อเวลา 11.30 น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษารวามสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พบและรับประทานอาหารกลางวัน (Working Lunch) กับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน และผู้บริหารท้องถิ่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายกฯ แสดงความยินที่ได้พบกับผู้แทนองค์กรทั้งภาคราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทนเกษตรกรในภาคอีสาน เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาภาคอีสาน เนื่องจากภาคอีสานมีศักยภาพ และสามารถพัฒนาเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงอื่นๆ ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนต่างๆ กลุ่มประเทศ CLMV และ One Belt - One Road ซึ่งจะช่วยสร้างความเจริญเติบโตให้กับประเทศได้ โอกาสนี้ ผู้แทนจากกลุ่มต่าง ๆ ได้เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาภาคอีสาน ดังนี้ (1) ผู้แทนจากส่วนราชการจังหวัด ได้เสนอให้มีการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการเร่งรัดโครงการที่จะสามารถลดปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้ อาทิ โครงการอ่างสะพุง การก่อสร้างประตูระบายน้ำ เป็นต้น (2) ผู้แทนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เสนอให้สร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กแบบหลุมขนมครก เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำนอกเขตชลประทาน โดยขอรับการสนับสนุนด้านเครื่องจักรกลสำหรับการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลเพิ่มและสนับสนุนโครงการหรือมาตรการใด ๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวอีสานให้ดียิ่งขึ้นได้ อาทิ การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในภาคอีสาน โครงการธนาคารต้นไม้ และการปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน (3) ผู้แทนจากภาคเอกชนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการให้เพียงพอ และเห็นควรให้มีการบริหารจัดการช่องทางผ่านแดนของคนกับสินค้าในลักษณะ One Stop Service ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนให้บูรณาการการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ (4) ผู้แทนจากสภาเกษตรกรเสนอให้มีการจัดทำผังเกษตร (Demand) ให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนการจัดหาน้ำ (Supply) เชื่อมโยงกับเกษตรนอกเขตชลประทาน พร้อมทั้งขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการปลูกพืชน้ำน้อยและเมล็ดพันธุ์ด้านพืชไร่ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังความเห็นต่าง ๆ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับนำประเด็นดังกล่าวไปพิจารณาและดำเนินการ บนพื้นฐานของความจำเป็นและความคุ้มค่า รวมทั้งคำนึงถึงความเหมาะสมและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ด้วย ในช่วงท้าย นายกฯ กล่าวว่ายินดีที่ได้พบและพูดคุยกับผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีจุดประสงค์เหมือนกันในการพัฒนาภาคอีสานให้ดียิ่งขึ้น ขอย้ำว่าการรักษาความสงบสุขในสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาภาคอีสาน หากประชาชนภายในประเทศขัดแย้งกันเองก็จะทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย และไม่สามารถพัฒนาประเทศไปตามที่ต้องการได้ ดังนั้นทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือกันในการหาแนวทางพัฒนาที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน