กศน.สนองนโยบายนายกฯ ส่งเสริม ปชช.ใช้ภาษาไทยถูกต้อง ขยายผลดีจากนำร่องสอนชาวเขาไม่รู้หนังสืออ่านเขียนคล่อง นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ศธ. โดย กศน. ส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ และใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนว่า ปัจจุบัน กศน.มีการจัดการเรียนรู้ใน 2 รูปแบบ คือ จัดตามหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานปกติ และหลักสูตรสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก โดยให้ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ดำเนินการสอนผู้ไม่รู้หนังสือ โดยประสานงานกับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งผลการนำร่องประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ และขณะนี้ มีการขยายผลไปยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี กศน.ตำบล เป็นผู้ดำเนินการ และยังมีความพยายามที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ โดยหลักการจัดการเรียนการสอนทั้ง 2 พื้นที่ จะมีความเหมือนกันเนื่องจากกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนที่ไม่ใช่ภาษาไทยเป็นหลัก โดยทางภาคเหนือจะเป็นชาวไทยภูเขา ขณะที่ภาคใต้จะเป็นชาวไทยมุสลิม “เป้าหมายของการดำเนินการ คือ ผลสัมฤทธิ์จากการประเมินที่มีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้น กรณีกลุ่มผู้ไม่รู้หนังสือ กลุ่มผู้ลืมหนังสือ ซึ่งเกณฑ์การวัดจะดูที่การพัฒนา เช่น ผู้ไม่รู้หนังสือสามารถอ่านออก เขียนได้ ขณะที่ผู้ลืมหนังสือสามารถฟื้นการอ่านออก เขียนได้กลับคืนมา ขณะนี้กำลังจะมีการทบทวน สำรวจ กลุ่มเป้าหมายใหม่ เพราะตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลง แต่กลุ่มเป้าหมายที่ได้มีการสำรวจไว้ในแผนปฏิบัติการ ในปี 2560 ก็จะดำเนินการให้ได้ทั้ง100%” เลขาธิการ กศน. กล่าวและว่าวิธีการที่จะทำให้ประสบผลตามเป้าหมายที่นายกฯ ต้องการ อาจต้องมีการปรับวิธีการจัดการเรียนการสอน โดยใช้คำที่ใกล้ตัว และสอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้เรียน ให้สามารถจำและพูดได้ง่าย ซึ่งกศน.พยายามรวบรวมคำที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย และอาชีพต่างๆ มาใช้ในการสอน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอธิบายและสื่อสารได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ปวดท้อง ต้องสามารถบอกอาการและระดับความปวดได้ อย่างปวดจี๊ด ปวดนิดหน่อย เป็นต้น และพยายามสื่อสารได้ถึงขั้นวิเคราะห์ โดยเชื่อมโยงเป็นประโยคไม่ใช่สอนเป็นคำ