"หมอธี"ให้ สพฐ.ช่วยจ่ายค่าน้ำ-ไฟสถานศึกษา พร้อมมอบนโยบายเฟ้นหา "รร.ที่มีมาตรฐาน"ในทุกจังหวัดเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาโรงเรียนอื่นๆ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.60 ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และรับฟังความคิดเห็นการดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นครราชสีมา และสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 14 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ และชัยภูมิ ว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายให้ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) และโรงเรียนเอกชน เป็นแกนหลัก ดำเนินการยกระดับคุณภาพโรงเรียน โดยให้ทุกจังหวัด เฟ้นหาโรงเรียนที่มีมาตรฐาน (Benchmarks) คือเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาโดดเด่น และเป็นที่ยอมรับทั้งรัฐและเอกชน จากนั้นกำหนดกิจกรรมหรือโครงการที่เป็นรูปธรรม ช่วยพัฒนาโรงเรียนอื่นๆ ภายในจังหวัดให้เทียบเคียงกับโรงเรียนซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น จัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอน โดยให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง การเรียนภาษาอังกฤษโดยดาวน์โหลดข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นต้น ขณะเดียวทุกโรงเรียนต้องทำแผนพัฒนาที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แผนยุทธศาสตร์ที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ นพ.ธีระเกียรติ ยังได้หารือกับนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) โดยมอบนโยบาย เรื่องในการใช้งบประมาณเหลือจ่าย ปีงบประมาณ 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้นำไปใช้เพื่อดูแลช่วยเหลือสถานศึกษาเป็นหลัก โดยเฉพาะการดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องสาธารณูปโภค ในโรงเรียนที่พยายามจ่ายแล้วแต่เกินกำลัง หรือมีหนี้ซ้ำซาก ดูแลช่วยเหลือโรงเรียนเหล่านี้สามารถล้างหนี้ได้ มีเงินเหลือไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นว่า ต้องเป็นโรงเรียนที่เดือดร้อนจริง ไม่ใช่โรงเรียนที่แกล้งไม่จ่าย เพราะทราบว่ามีบางแห่งแกล้งไม่จ่าย เพราะรู้ว่าปลายปีจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย "สำหรับปีนี้ รมว. ศึกษาธิการ ย้ำว่าให้ช่วยเรื่องค่าสาธารณูปโภคของโรงเรียน มากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยปกติเงินค่าสาธารณูปโภคของโรงเรียน จะมีเงินพอจ่ายได้เพียง 4-5 เดือนเท่านั้น ที่เหลือต้นสังกัด อาจเข้ามาช่วยจ่ายให้ส่วนหนึ่ง เช่น จ่ายให้ 1 หรือ 2 เดือน แต่ปีนี้ ศธ.มีนโยบายให้ช่วยเพิ่มขึ้น คือ เคลียหนี้ย้อนหลัง และวางบิลจ่ายให้จนถึงปัจจุบันให้มากที่สุด โดยอาจจะช่วยจ่ายให้ได้ประมาณ 10 เดือน และหากมีเงินเหลือจ่าย ให้นำไปช่วยสนับสนุนในการปรับปรุง หรือการดำเนินการของสำนักงาน ศธจ. ด้วย ซึ่งสามารถทำได้เพราะเป็นการบูรณาการการใช้งบฯภายในกระทรวงเดียวกัน" ปลัด ศธ. กล่าว