พบวัตถุโบราณพระพุทธรูป เทวรูปใบเสมา สิ่งของเครื่องใช้สมัยโบราณยุคทวารวดี ถึงยุคลพบุรี อายุกว่า 1,000 ปี ผอ.พิพิธภัณฑ์ฯลงพื้นที่ตรวจสอบ เล็งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 22 ส.ค.60 นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น พร้อมด้วย นายรุจ รังษี นายอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจสอบที่วัดระหอกโพ ต.โนนศิลา อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น หลังคนในชุมชนได้มีการขุดค้นพบพระพุทธรูป และเทวรูปองค์ต่าง ๆ รวม 39 องค์ และได้มีการส่งมอบให้กับพระครูบริหารสารธรรม อายุ 56 ปี เจ้าอาวาสวัดระหอกโพ เก็บรักษาไว้ภายในศาลาการเปรียญของวัด นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น กล่าวว่า จากการตรวจดูด้วยตาเปล่าในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า พระพุทธรูปและเทวรูป องค์ต่าง ๆ เป็นศิลปกรรมรูปทรงแปลก ๆ ทร่ไม่ใช่ศิลปกรรมที่เคยพบเห็นมาแบบปกติ คาดว่าจะสร้างขึ้นตามความเชื่อของคนในแต่ละยุค แต่ละสมัย ทั้งนี้พื้นที่ภาคอีสานของไทย มักจะขุดคเนพบวัตถุโบราณในกลุ่มศิลปะล้านช้าง ศิลปะลาว และศิลปะเขมร ที่มีอายุประมาณ 800 -1,200 ปีขึ้นไป โดยในการลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งนี้ ได้ทำการบันทึกภาพพระพุทธรูป และเทวรูปองค์ต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด พร้อมทั้งจะมีการส่งนักโบราณคดีเข้ามาตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง "นอกจากการลงพื้นที่ตรวจวอบพระพุทธรูปและเทวรูปต่างๆที่ขุดค้นพบแล้ว ยังได้มีการลงพื้นที่ตามเส้นทางอารยธรรมสมัยโบราณซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงและติดต่อกัน โดยก่อนหน้าที่ทางกรมศิลปากรได้มาตรวจสอบวัตถุโบราณต่างๆ ไว้แล้ว และได้ทำการขึ้นบัญชีเป็นแหล่งโบราณคดีกู่น้อยไว้แล้ว ที่วัดแก้วกู่ชัยมงคล บ้านดอนกู่ หมู่ที่ 15 ต.บ้านหัน อ.โนนศิลา และจากการตรวจดูพื้นที่โดยรอบวัดแก้วกู่ชัยมงคล บริเวณหลังวัดจะเป็นเนินดินซึ่งปัจจุบันเป็นที่นาของชาวบ้าน ซึ่งจากการตรวจสอบของ ผสข.พบว่าบริเวณที่ดินแห่งนี้จะมีเศษวัตถุโบราณ เช่นเครื่องปั้นดินเผา เศษก้อนหินก้อนอิฐสมัยโบราณที่นำมาก่อสร้างเป็นเจดีย์ และใบเสมา เป็นจำนวนมาก ซึ่งนางเรณู คำตา อายุ 50 ปี เจ้าของที่บอกว่าขณะไถนาก็พบวัตถุโบราณหลายชิ้น ได้แก่ ลูกดิ่งดินเผา เศษภาชนะดินเผา กระปุกดินเผามีเชิง ลูกหินบด ซึ่งนางเรณู ก็ได้มอบวัตถุดังกล่าวให้กับทางวัดเก็บรักษาไว้" นายทศพร กล่าวต่ออีกว่า บริเวณด้านหลังศาลาการเปรียญของวัดแห่งนี้ ได้มีการสร้างศาลาแก้วกู่คลอบทับวัตถุโบราณไว้ ซึ่งจุดนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นบือสิมเก่า มีลักษณะเป็นก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่ 3 ก้อนวางตัวกันเป็นกลุ่ม ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นใต้พื้นดินของกลุ่มหิน 3 ก้อนนี้ จะมีของมีค่าฝังอยู่ นอกจากนี้ยังพบใบเสมาหินทราย จำนวน 2 ใบปักอยู่ ซึ่งชาวบ้านเคยขุดลึกลงไปประมาณ 7 เมตร จนถึงฐานใบเสมา แต่ยกขึ้นมาไม่ได้ จึงทำการฝังกลบไว้ตำแหน่งเดิม คงเหลือตรงยอดใบเสมาโผล่ขึ้นมาให้เห็นเพียง 17 ซม.เท่านั้น ส่วนใบเสมาอันที่ 2 จะสูงจากพื้นดิน 81 ซม.มีประชาชนเดินทางไปสักการะบูชาและกราบไหว้อยู่อย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบของนักโบราณคดีพบว่าสถานที่แห่งนี้เคยรุ่งเรือง และมีประชาชนอาศัยกันอยู่อย่างต่อเนื่องมา มีการจัดกิจกรรมทางทางศาสนาของคนสมัยโบราณ ซึ่งจากการตรวจพิสูจน์วัตถุโบราณที่ขุดพบทราบว่าจะอยู่ในยุคทวาราวดี ถึง ลพบุรี ระหว่างศตวรรษที่ 12 – 16 ราว 1,200 – 1,000 ปี หรือก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และยังพบว่าพท.อ.โนนศิลา จะเป็นเส้นทางอารยธรรมเชื่อมโยงกัน ซึ่งหากลากเป็นแนวเส้นตรง ก็จะอยู่แนวเดียวกันกับปราสาทเปือยน้อย อ.เปือยน้อย ไปสู่จังหวัดมหาสารคามซึ่งมีองค์พระธาตุนาดูนตั้งอยู่ กระทั่งเลยไปจนถึงจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งที่ตั้งของชุมชนโบราณ มีการปรากฏร่องรอยของการทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันของคนโบราณมาตลอด อย่างไรก็ตามจะมีการประสานงานร่วมกับทางอำเภอในการจัดให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางอารยธรรมและวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของชุมชนแห่งนี้ต่อไป"