กรมการแพทย์ ชี้การหกล้มในผู้สูงอายุ เกิดจากโรคกระดูกพรุน โอกาสที่ผู้ป่วยจะเกิดการหกล้มแล้วมีกระดูกแตกหักสูง ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง หรือถึงขั้นนอนติดเตียง ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า วิวัฒนาการทางการแพทย์ส่งผลให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ผู้สูงอายุจึงต้องเผชิญกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นปัญหาจากความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะโรคระบบกระดูกและข้อ ได้แก่ ภาวะหกล้ม ถือปัญหาสำคัญที่มักเกิดขึ้นบ่อยในคนกลุ่มนี้ ผู้สูงอายุที่หกล้มประมาณร้อยละ 5 - 10 จะมีการบาดเจ็บรุนแรง เช่น ภาวะกระดูกหัก อาการบาดเจ็บของสมองจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต และยังส่งผลกระทบต่อจิตใจ เกิดความกังวล ภาวะซึมเศร้า ตลอดจนสูญเสียความมั่นใจในการเดิน ซึ่ ผู้ป่วยร้อยละ 30 - 73 จะมีอาการกลัวการหกล้มอีกจนทำให้สูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตนเองวิธีปฏิบัติตนของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหกล้ม ควรใช้อุปกรณ์ช่วยในการเดิน เช่น ไม้เท้า ตลอดจนปรับพฤติกรรม เช่น ลุกขึ้นยืนช้าๆ มองหาวัตถุรอบตัวที่สามารถจับยึดได้ในกรณีฉุกเฉิน ไม่เดินบริเวณที่เปียกชื้น ไม่ใส่รองเท้ายางที่หมดอายุการใช้งาน เพราะพื้นรองเท้าลื่นและไม่เกาะพื้น นอกจากนี้บุตรหลานต้องดูแลเอาใจใส่ อย่างใกล้ชิดโดยปรับสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ที่ผู้สูงอายุอยู่เป็นประจำ เช่น ติดตั้งหลอดไฟบริเวณมุมมืดที่เดินผ่านบ่อยๆ โดยปุ่มสวิทช์ควรอยู่ใกล้มือเอื้อม อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆควรมีอยู่เท่าที่จำเป็น เตียงนอน เก้าอี้ และโถส้วมมีความสูงพอเหมาะไม่เตี้ยเกินไป ทางเดินและบันไดควรมีราวจับตลอดขั้นบันไดต้องมีความกว้างยาวพอเหมาะและสม่ำเสมอ ไม่สูงชันเกินไป พื้นห้องใช้วัสดุที่ไม่ลื่นโดยเฉพาะในห้องน้ำ ห้องครัว บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างห้องควรอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ควรมีสิ่งของเกะกะ เช่น พรมเช็ดเท้า สายไฟฟ้า หลีกเลี่ยงการมีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมวในบริเวณที่อยู่อาศัย อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากการหกล้มในผู้สูงอายุที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือสิ่งแวดล้อมแล้ว หกล้มโดยไม่มีเหตุอันควร เช่น หกล้มขณะเดินปกติภายในบ้าน อาจเกิดจากโรคที่ผู้สูงอายุไม่รู้ตัว ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เลือดไม่สามารถถูกสูบฉีดไปเลี้ยงสมองได้ทันเวลาและเพียงพอ กลุ่มโรคในระบบไหลเวียนเลือด เช่น หมดสติชั่วครู่ในขณะกำลังเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กลุ่มโรคระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคปลายประสาทเสื่อม โรคลมชัก โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน สายตาผิดปกติ เช่น ต้อกระจก ผลข้างเคียงจากยาโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุทั้งสิ้น ทั้งนี้หลักในการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองสาเหตุต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การหกล้ม นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นสารอาหารที่บำรุงกระดูก เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ส่งเสริมการทรงตัว เช่น การรำไม้พลอง การรำมวยจีน การฝึกโยคะ