เกษตรอาชีวะประชุมปฏิบัติการสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ย้ำสืบสานตามแนวทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (3) เข้าสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาสาขาเกษตรกรรมมีผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรนาย ณรงค์ พลละเอียดเป็นประธานเปิด มีนายนิพนธ์ ภู่พลับผอ.วิทยาลัยเกษตรฯชุมพรกล่าวรายงานโดยสรุปว่า ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ(สอศ.ศธ.)เป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อมอบนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสาขาเกษตรกรรมของประเทศไทย ให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรแก่ผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อนำสู่การพัฒนาผู้เรียนในแต่ละสถานศึกษาผลิตกำลังคนเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์สอดคล้องกับภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งนี้โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรมาเป็นประทีปส่องทางใช้หลักศาสตร์พระราชาสู่การเรียนรู้และปฏิบัติ โดยจัดการเรียนการสอนบนรากฐานแห่งแนวพระราชดำริการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการยกระดับและพัฒนาการอาชีวศึกษาสาขาเกษตรกรรมระหว่างสถานศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายนิพนธ์กล่าวในรายงานด้วยว่าเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรฯของไทยได้ไปศึกษาเรียนรู้การเกษตรในบางประเทศอย่างเช่นประเทศอิสราเอล โครงการความร่วมมือจัดการเรียนการสอนปวส.พืชศาสตร์ทวิภาคีไทย-อิสราเอลที่เขตอาลาวาซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งขาดแคลนน้ำและผืนดินส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายยากลำบากแก่การพัฒนาทางการเกษตร แต่ประเทศอิสราเอลได้ใช้วิธีการและเทคโนโลยีนวัตกรรมจนสามารถปรับปรุงพื้นที่ทะเลทรายทำการเกษตรจนประสบความสำเร็จ “นอกจากเป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางอาหารในประเทศแล้วยังสามารถเป็นสินค้าส่งออกนำรายได้เข้าประเทศด้วย โดยทางสอศ.ของไทยได้มีโครงการความร่วมมือส่งนักเรียนนักศึกษาครูอาจารย์ไปศึกษาเรียนรู้ ไปทำงานในสวนเกษตร นอกจากได้ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาดินพัฒนาพื้นที่และได้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าปัจจัยหลักสำคัญขาดไม่ได้คือ “น้ำ” ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ทรงเน้นย้ำ ทำให้เยาวชนไทยของเราได้เกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณพร้อมที่จะกลับมาพัฒนาอาชีพเกษตรของไทยเราต่อไป อีกทั้งทำให้มีรายได้กลับมาด้วยรวมทั้งมีโอกาสนำเอาแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่ให้เพื่อนๆและผู้สนใจนานาชาติได้ศึกษาเรียนรู้ผ่านบอร์ดนิทรรศการในโอกาสต่างๆด้วยเช่นกัน”ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพรกล่าวสรุป จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรกล่าวเปิดประชุมสรุปว่า ยินดีและเป็นเกียรติ อย่างยิ่งที่จังหวัดได้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ในการจัดประชุมเพื่อพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาด้านเกษตรกรรมของอาชีวศึกษา ด้วยจังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดหนึ่งที่ส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาการด้านการเกษตรเฉพาะอย่างยิ่งมีชื่อเสียงด้านผลไม้สำคัญๆของประเทศอยู่แล้ว ประชาชนในพื้นที่มีวิถีการเกษตรเป็นหลัก และเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่น้อมนำหลักการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายต่อหลายโครงโดยเฉพาะโครงการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ด้านผู้รับผิดชอบในนามสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษานางพุทธชาด ศุภลักษณ์ ผอ.ศูนย์ประสานงานอาชีวศึกษาระหว่างประเทศกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การจัดการเรียนการสอนด้านเกษตรกรรมต้องตระหนักว่านักเรียนนักศึกษาเมื่อทำการเกษตรได้ผลผลิตแล้วจะไปสู่ตลาดยังไง ปลอดภัยยังไง แปรรูปยังไง การพัฒนาผลผลิต โรจิสติกถึงผู้รับ วิทยาลัยเกษตรต้องสอนแล้วเป็นผู้นำช่วยกันพัฒนาจุดนี้ด้วย ผอ.พุทธชาดกล่าวว่าอาชีพเกษตรต้องก้าวไปสู่สู่การพัฒนาชาติภายใต้ข้อตกลงอาเซียนสาขานำร่องเรามีงานวิจัยหลายชิ้นเช่นเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เน้นว่าภูมิภาคให้ความสำคัญ ทุกประเทศให้ความสำคัญเอาไปใช้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านประเทศไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้วนำเอาที่ทำธุรกิจอยู่แล้วมาร่วมมือด้วยและให้คนของเราเรียนรู้เช่นโครงการที่ทำกับอิสราเอลที่ได้ทั้งการแบ่งปัน ความรัก เก็บความรู้จากประเทศนั้น “นโยบายย้ำเกษตรทฤษฎีใหม่ฯคือผสมผสานผ่านอกท. (องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี) โดยนร.นศ.แต่ละหมู่บ้าน(ทำหมู่บ้านจำลองขึ้นมาให้นร.นศ.สมาชิกปฏิบัติจริง)ทำอาชีพเกษตรให้ได้ผลผลิตเพื่อบริโภคเหลือแล้วจึงขาย ตรงนี้เป็นจุดเรียนรู้การทำงานร่วมกันคือฟาร์มกลางของหมู่บ้าน เขาก็จะมีพลังสามัคคี พลังเมตตาให้อภัยกันผ่านหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ พัฒนาไปถึงความเป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ด้วยทางสอศ.มุ่งเน้นนำความรู้ทางเทคโยโลยี นวัตกรรมแบบเรียบง่าย ประหยัดเข้ามาเสริมความรู้เพื่อต่อยอดหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ”นางพุทธชาดกล่าว