กฟผ. นำประชาชนคนปลายน้ำ “ทำดี” สืบสานงานของพ่อ “อาสาทำดี ตามรอยเขื่อนพระราชา” ณ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ป่าไม้ของประเทศไทยถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วตามแรงหนุนเนื่องของประชากรที่เพิ่มขึ้นผนวกกับพลังผลักดันทางเศรษฐกิจระบบทุนนิยมเสรีที่มุ่งค้าขาย โดยใช้ป่าเป็นตัวสำคัญเชิงพาณิชย์ ปฏิบัติการดังกล่าวก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งสาเหตุเพราะต้นไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลาย ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อยามน้ำหลากก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันและมีการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จนเป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร กลายเป็นทุกข์ร้อนของแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวยิ่งนัก โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงเริ่มทดลองปลูกป่าโดยทรงเริ่มปลูกต้นยางด้วยพระองค์เอง โดยทรงเพาะเมล็ดยางในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และได้ทรงปลูกต้นยางนั้นในแปลงป่าไม้ทดลองในบริเวณแปลงทดลองปลูกต้นยางนาพร้อมข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 จำนวน 1,250 ต้น ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดาในลักษณะป่าไม้สาธิต นอกจากนี้ยังได้สร้างพระตำหนักเรือนต้นในบริเวณป่าไม้สาธิตนั้นเพื่อทรงศึกษาธรรมชาติวิทยาของป่าไม้ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งในปี พ.ศ. 2508 ด้วยพระราชหฤทัยเรื่องป่าต้นน้ำลำธารทรงคิดค้นนานาวิธีที่จะอนุรักษ์ป่าไม้ให้ยืนยง ณ หน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ ในปี พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการปลูกต้นไม้ 3 ชนิด ที่แตกต่างกัน คือ ไม้ผล ไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ เพื่อจะทำให้เกิดป่าไม้แบบผสมผสานและสร้างความสมดุลแก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของรัฐและวิถีประชาในชุมชนประการสำคัญนั้นมีพระราชดำริที่ยึดเป็นทฤษฎีการพัฒนาด้านป่าไม้โดยปลูกฝังจิตสำนึกแก่ประชาชนว่า “...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็พากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”นับเป็นทฤษฎีที่เป็นปรัชญาในด้านการพัฒนาป่าไม้ที่ยิ่งใหญ่โดยแท้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณสืบสานพระราชปณิธาน ดำเนินโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี2537 ถึงวันนี้ เกิน 22 ปี โครงการปลูกป่า กฟผ. พลิกฟื้นคืนพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดน่านแล้วกว่า 82,800 ไร่ ลุยเดินหน้าปลูกป่าน่านต่อเนื่อง 17,000 ไร่ ปลุกจิตสำนึกชาวน่านตลอดจนประชาชนคนไทยทั้งประเทศเห็นคุณค่า และร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ ตามแนวทาง “ปลูกที่ท้อง ปลูกที่ใจ และปลูกในป่า” สู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน เพิ่มต้นไม้จำนวนกว่า 16,560,000 ต้น ในพื้นที่ 82,800 ไร่ ครอบคลุม พื้นที่เกือบทุกอำเภอใน จ.น่าน ภายใต้โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ในปี2560 นี้กฟผ. ดำเนินโครงการปลูกป่าต่อเนื่องอีก 4 ครั้งนำประชาชนคนปลายน้ำ “ทำดี” สืบสานพระราชปณิธานงานของพ่อ ประเดิมทริปแรก “อาสาทำดี ตามรอยเขื่อนพระราชา” ณ เขื่อนภูมิพล จ.ตากไปแล้วเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยร่วมกับสื่อพันธมิตร ที่กฟผ.กำหนดวางเส้นทางปลูกป่าไว้ 4 เส้นทาง นำจิตอาสาคนปลายน้ำร่วมสืบสานพระราชปณิธานงานของพ่อ ด้านการดูแลรักษาป่าและน้ำ ด้านความพอเพียง และด้านการเสียสละและการให้ทาน ประเดิมเส้นทางแรกด้วยโครงการ “อาสาทำดี ตามรอยเขื่อนพระราชา” ณ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ มาทรงงานเพื่อพัฒนาประเทศ พร้อมร่วมสืบชะตาบวชป่าต้นน้ำ สร้างฝาย และเรียนรู้ความพอเพียงผ่านโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ร่วมกับสื่อพันธมิตรสานต่อพระราชปณิธานด้านการดูแลรักษาป่าและน้ำ ด้านความพอเพียง และด้านการเสียสละและการให้ทาน ตามโครงการ “กฟผ. น้อมสืบสานงานของพ่อ” โดยจัดทริปจิตอาสา 4 เส้นทางในปี 2560 สำหรับเส้นทางแรก “อาสาทำดี ตามรอยเขื่อนพระราชา” ได้คัดเลือกประชาชนจิตอาสา 40 ท่าน ร่วมกิจกรรม ณ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2560จิตอาสาที่ร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสเยี่ยมเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนพระราชทานนาม โดยครั้งนี้โชคดีได้ตามรอยสถานที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ เช่น อาคารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเคยเป็นสถานที่ทรงงานและประทับแรมระหว่างเสด็จฯ มาพัฒนาประเทศในพื้นที่ภาคเหนือ และอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์และของใช้ส่วนพระองค์มาจัดแสดง ร่วมกับนิทรรศการเรื่องราวการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำที่ก่อเกิดคุณูปการแก่สังคมไทยจนถึงปัจจุบัน “กฟผ. จัดกิจกรรมนี้ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนรอบเขื่อนภูมิพล ที่ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านต้อนรับจิตอาสาที่มาร่วมพิธีสืบชะตาบวชป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำเหนือเขื่อนแม่ปิงตอนล่าง เพื่อเติมความสมบูรณ์ให้ป่าชุมชนที่คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ และเรียนรู้ด้านความพอเพียงจากโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ โรงเรียนบ้านวังไคร้ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯมาใช้จนประสบความสำเร็จ มีการเลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก และเพาะเห็ดเป็นอาหารกลางวันให้นักเรียน เมื่อเหลือก็นำไปจำหน่ายให้กับคนในชุมชนเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับโรงเรียน นับเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างพอเพียงระหว่างป่าและชุมชนอย่างยั่งยืน” ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคมกฟผ. กล่าวอีกว่านอกจากนี้ กฟผ. ยังได้เชิญชวนผู้ร่วมทริปบริจาคคนละ 89 บาท เข้าโครงการ “89 บาท เพื่อผู้พิทักษ์ป่า” สมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันไฟป่า และร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด 89,000 ตัว รวมถึงล่องแพชมวิถีชีวิตและธรรมชาติอันสวยงามเหนือเขื่อนภูมิพลที่มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนสนองแนวพระราชดำริอีกด้วยสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในอีก 3 เส้นทาง ซึ่งจะจัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดน่าน พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดจันทบุรี และเส้นทางสุดท้ายในพื้นที่จังหวัดกระบี่ สามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/egatreforest นายธาตรี ริ้วเจริญ กล่าวถึงโครงปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติการย้อนถึงเมื่อปีที่แล้วว่า สำหรับในปี 2559 กฟผ. ปลูกป่า จ.น่าน ต่อเนื่องอีก 17,000 ไร่ ประกอบด้วย ป่าใช้สอย หรือป่าชุมชน จำนวน 500 ไร่ เป็นการปลูกในพื้นที่ชุมชน และปลูกป่าต้นน้ำ หรือป่าบก จำนวน 16,500 ไร่ ปลูกในเขตอุทยานแห่งชาติ, ป่าสงวนแห่งชาติ และโครงการพระราชดำริ สำหรับพื้นที่ป่าต้นน้ำ และป่าชุมชน นั้น กฟผ. มีความตั้งใจร่วมสร้างเมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำร่วมกับชาวน่าน เนื่องจาก จ.น่าน เป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโครงการปลูกป่าของ กฟผ. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้ “ปลูกป่าในใจคน”มาเน้นย้ำปลูกฝังสำนึกชาวชุมชนดำเนินการควบคู่ไปกับการปลุกจิตสำนึกชาวน่าน ให้รัก หวงแหน และร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ ตามแนวทาง “ปลูกที่ท้อง ปลูกที่ใจ ปลูกในป่า” สู่การปลูกที่ยั่งยืนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ซึ่งเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จในการดูแลป่าเหนือเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศมาแล้ว สำหรับแนวทาง “ปลูกที่ท้อง” กฟผ. เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยการจ้างงานชุมชนในพื้นที่ให้ปลูกป่า และบำรุงรักษาป่าให้ทางราชการด้วย โดยใช้งบประมาณการจ้างไม่ต่ำกว่าปีละ 80 ล้านบาท ทำให้ชุมชนในท้องถิ่นมีรายได้ ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากนั้น ได้นำโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผสมผสานกับกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านอันเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริไปเน้นย้ำเป็นความรู้เพื่อนำสู่การปฏิบัติอันได้แก่หลักคุณธรรมความไม่โลภ มีความขยันหมั่นเพียร มีเมตตารักใคร่สามัคคีต่อกันพึ่งพาอาศัยกัน ตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีส่วนสำคัญในการเกื้อกูลการดำรงชีวิตจึงต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพากัน ให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติเป็นต้นแบบ เพื่อให้ชุมชนที่ดูแลป่ามีกินมีใช้ พึ่งพาตัวเองได้ “ปลูกที่ใจ” กฟผ. ได้รณรงค์ปลุกจิตสำนึกชาวชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ด้วยการจัดทำโครงการกล้าดี ซึ่งเป็นโครงการเด็กคิด เด็กทำ เด็กพูด เพื่อรักษาป่าไม้ของชุมชนและของประเทศชาติ เพื่อปลูกฝังให้เด็กเห็นคุณค่าซึมซับความรักความห่วงแหนป่า แหล่งน้ำ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็พร้อมดูแล ปกป้องผืนป่าให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ “ปลูกในป่า” นอกจาก กฟผ.จะปลูกป่าตามเป้าหมายร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้ประสานการขอพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมุ่งเน้นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลปกป้องผืนป่า ซึ่งหากมีการดูแลรักษาที่ดี ป่าจะยังคงอยู่ โดยไม่ต้องปลูกป่าซ้ำไปมาทุกปี นายธาตรี ริ้วเจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า นับตั้งแต่ กฟผ. ดำเนินการ ปลูกป่ามา 22 ปี ตั้งแต่ปี 2537 สืบสานพระราชปณิธานพร้อมทั้งเผยแพร่พระราชหฤทัยมุ่งมั่นสร้างป่าสร้างแหล่งน้ำด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรของพระองค์ที่ประสบทุกข์จากความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำหลากเพราะป่าไม้ถูกทำลายได้เห็นความตื่นตัวของคนไทยในการหันมาสนใจอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามรอยพระยุคลบาทอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลต้องขอขอบคุณ ผู้มีส่วนร่วมทั้งที่เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ชื่นชอบของคนในสังคม ของวัยรุ่น ที่ช่วยเป็นสื่อ ประชาชนในท้องถิ่นชุมชน ประชาชนทั่วไปทั้งประเทศ และทีมปลูกทุกคนรวมถึงสื่อมวลชนด้วยที่รวมพลังหัวใจดำเนินการเพื่อชาติบ้านเมืองและเพื่อสืบสานพระราชปณิธานถวายเป็นพระราชกุศลจนทำให้เกิดปรากฏการณ์ร่วมพลิกฟื้นคืนผืนป่าให้กับประเทศชาติอย่างยั่งยืนร่วมกับ กฟผ. พร้อมได้ปลุกกระแสพลังคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวให้หันมาสนใจ และจริงจังกับการอนุรักษ์ป่าไม้ให้หยั่งรากลึก และเติบโตเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์เป็นแหล่งต้นลำธารสืบต่อไป