จากแนวนโยบายและแผนการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในปัจจุบันและอนาคต ภายใต้การกำกับดูแลของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่แห่งท้องถิ่นให้ดีขึ้น ดังนั้นเป้าหมายในปี 2564 ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงเดินหน้าสร้างชุมชนต้นแบบตามมาตรฐานเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก 6 แห่ง ใน 6 พื้นที่พิเศษ อีกทั้งเร่งผลักดันเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป้าหมายอย่างน้อย 8 ชุมชน พร้อมจับมือองค์กรยูเนสโกใช้เครื่องมือ VMAT บริหารจัดการนักท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวเป็นหน่วยงานแรกของไทย ยกระดับภารกิจสู่สากล โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ในปี 2564 เน้นการดำเนินงานดังนี้ 1. ภารกิจด้านการประกาศพื้นที่พิเศษ อพท.อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษแห่งใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า 2. ภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในพื้นที่พิเศษจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จ.ตราด พื้นที่ตำบลนาเกลือ จ.ชลบุรี พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย พื้นที่ตำบลเชียงคาน จ.เลย พื้นที่ตำบลในเวียง จ.น่าน และพื้นที่เทศบาลตำบลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป้าหมายสำคัญในปี 2564 คือ อพท. จะผลักดันให้พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย ให้เป็น Global Sustainable Destinations Top 100 หรือแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง ส่วนข้อที่ 3. ภารกิจด้านการขับเคลื่อนเมืองตามแนวทางเครือข่ายเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) 2 แห่ง ได้แก่ จ.น่าน และ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ประจำปี 2564 ให้ได้ร้อยละ 75 และจัดทำใบสมัครในการเสนอเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ขององค์การยูเนสโก 4. ภารกิจด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism: CBT) โดยการ“สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน” จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันโดยมีเป้าหมายในการผลักดันชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้อย่างน้อย 8 ชุมชน 5. นอกเหนือจากภารกิจภายในประเทศแล้ว อพท. ยังได้จับมือกับหน่วยงานชั้นนำในระดับโลก เพื่อต่อยอดความสำเร็จสู่การเป็นต้นแบบในระดับสากลในหลายๆ ด้าน นำเครื่องมือมาติดตามผล อีกทั้ง นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวต่อว่า อพท. มีแนวทางที่จะยกระดับภารกิจของหน่วยงานสู่สากลโดยร่วมมือกับองค์การยูเนสโก เกี่ยวกับเครื่องมือการประเมินการจัดการนักท่องเที่ยว (Visitor Management Assessment Tool: VMAT) ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานแห่งแรกของประเทศไทยเลยที่นำเครื่องมือนี้ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกและพื้นที่พิเศษ อพท. และจะมีการต่อยอดไปถึงระดับอาเซียน เพื่อสร้างแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ท่องเที่ยว ติดตามผลและเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของการจัดการนักท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวได้ดีขึ้น สร้างกิจกรรมที่สมเหตุสมผล ปรับปรุงการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว เสริมสร้างบุคคลและสถาบัน และต่อยอดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่าย ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์การทำงาน ทาง อพท. จึงได้จัดทำการประเมินระดับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในพื้นที่พิเศษ ในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ในภาพรวมประชาชนในพื้นที่พิเศษ มีระดับความอยู่ดีมีสุขอยู่ที่ร้อยละ 78.44 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ความเพียงพอ (Sufficiency threshold) โดยอ้างอิงตามมาตรฐานในการวัด GNH ของประเทศภูฏาน อยู่ในระดับ Deeplyhappy (มากที่สุด) ขณะที่รายได้เสริมจากการท่องเที่ยว ในปี 2563 ใน 20 ชุมชนเป้าหมาย มีรายได้รวมเฉลี่ยลดลง 46.54% เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 โดยรายได้รวมทั้งหมดลดลงจาก 1,524,109.16 บาทต่อปี ลงมาอยู่ที่ 814,775.60 บาทต่อปี ในปี 2563 สำหรับการกระจายรายได้ (สัมประสิทธิ์ GINI) หรือ Gini coefficient ในพื้นที่พิเศษ เฉลี่ยรวมทุกพื้นที่ อยู่ที่ 0.369 ซึ่งการวัดค่าสัมประสิทธิ์คือวิธีวัดการกระจายของข้อมูลทางสถิติอย่างหนึ่งที่นิยมใช้เป็นตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวย ซึ่งสัมประสิทธิ์จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 โดยค่าจะเข้าใกล้ 0 หากทุกคนในสังคมมีรายได้เท่าเทียมกัน แสดงให้เห็นว่า แม้รายได้แนวดิ่งจะลดลง แต่การกระจายรายได้ของชุมชนในพื้นที่ของ อพท. ถือว่า อยู่ในเกณฑ์การกระจายรายได้รวมของประเทศ ซึ่งมี GINi เท่ากับ 0.48