เกษตรอาชีวะประชุมปฏิบัติการสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ย้ำสืบสานตามแนวทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (จบ) การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาสาขาเกษตรกรรมช่วงวันที่27-28 กค.60ที่ผ่านมา การยกระดับดังกล่าวที่ว่าจุดหมายปลายทางคือการพาวงการเกษตรกรรมไทยก้าวสู่ยุคไทยแลนด์4.0 หรือพัฒนานักเรียนนักศึกษาอาชีวะเกษตรสู่ความเป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์แล้วนำพัฒนาการสู่เกษตรกรของประเทศเพื่อเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ด้วยเช่นกัน แต่การก้าวย่างไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นยึดหลักการเดินตามศาสตร์พระราชาด้วยหลักเกษตรทฤษฎีใหม่บนรากฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โครงการหนึ่งที่สร้างประสบการณ์ทักษะการทำกระเกษตรในประเทศที่รู้กันว่าผืนดินส่วนหนึ่งเป็นทะเลทราย ยากแก่การทำเกษตรแต่ ประเทศดังกล่าวก็สามารถเอาผืนดินทะเลทรายมาสร้างอาชีพเกษตรจนเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนส่วนหนึ่งในประเทศและยังเป็นสินค้าส่งออกได้อีก นั่นคือพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ทำความร่วมมือจัดการเรียนการสอนระดับปวส.พืชศาสตร์ทวิภาคีไทย-อิสราเอลที่เขตอาราวาในภาคใต้อิสราเอลติดกับจอแดน(ARAVA INTERNATIONAL CENTER FOR AGRICULTURE TRAINING) มีนักศึกษาไปทำเกษตรอยู่ในโมชาร์ฟ(ชุมชน)แต่ละรุ่นเป็นเวลา 11 เดือน ฟังจากนักศึกษาเล่าก็ลงมือทำเกษตรหลายอย่างทั้งไม้ผล พืชผัก ปศุสัตว์ ประมงเป็นเวลาเกือบปี ในการจัดประชุมที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพรได้เอาผลสำเร็จจากประสบการณ์ของนักศึกษาที่ไปสัมผัสกับวิถีเกษตรในพื้นที่ประเทศอิสราเอลมาจัดบอร์ดนิทรรศการให้ผู้บริหารที่มาร่วมประชุมกันตามนโยบายสอศ.กับการเตรียมเพื่อยกระดับการจัดการเรียนการสอนเกษตรกรรมได้ชมและพูดคุยกับนักศึกษาที่ไปร่วมในการประชุมคราวนี้ ผมได้คุยกับนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ดที่ไปเมืองอาลาวาเมื่อปีที่แล้วเป็นรุ่นที่17 บอกว่าไปทำเกษตรที่นั่นทำทั้งการปลูก การเก็บอินทผาลัมที่เป็นไม้ผลหลักของอิสราเอล เป็นสินค้าส่งออก แล้วไปทำเรื่องพริกหวาน มะเขือเทศ เมรอน แตงโม องุ่น มะม่วง ทั้งเก็บทั้งปลูก ดูแลรักษาทุกขั้นตอน เรียนรู้การปลูก ดูแลรักษาอยู่ในขั้นมาตรฐานคุณภาพ นักศึกษาบอกว่าความต่างในการทำเกษตรพื้นที่เขาเป็นทรายกับบ้านเรา เวลาน้ำมาไม่ว่าจะเป็นฝน การรดน้ำแบบธรรมดาทั่วไปน้ำจะชะล้างธาตุอาหารตะกอนไปหมด เขาใช้วิธีประยุกต์คือใช้วิธีเอาปุ๋ยผสมกับน้ำรดต้นไม้หรือพืชผักโดยวิธีระบบน้ำหยด ปุ๋ยที่เขาใช้แม้จะมีเคมีแต่ไม่เกินเกณฑ์ที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เขาให้ความสำคัญมากเด็กบอก นอกจากไม้ผลหลักที่ปลูกตามปรกติแล้วนักศึกษาที่ไปสัมผัสประสบการณ์มาบอกอีกว่า พืชอายุสั้นนั้นปลูกตามฤดูกาล แต่ละช่วงการปลูกต้องมีการเตรียมดินเช่นมักปลูกช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เมื่อถามว่ารู้จักหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรมั้ย นศ.ทุกคนที่ไปหาประสบการณ์ที่โมชาร์ฟ อาลาวาอิสราเอลบอกว่ารู้จัก เพราะการจัดการเรียนการสอนการเกษตรของวิทยาลัยเกษตรทุกแห่ง อาจารย์จะย้ำว่าน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ฯอันเป็นศาสตร์พระราชาที่เป็นรากฐานมาเป็นเครื่องมือ อย่างเช่นหัวใจสำคัญคือน้ำ ถ้าไม่มีน้ำพืชผลไม้สรรพชีวิตไม่มีทางเจริญงอกงาม แล้วปรับปรุงพัฒนาดิน พัฒนาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ที่อิสราเอลก็เห็นความสำคัญเช่นเดียวกับหลักทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่9 ไม้ผล พืชผักที่ปลูกหัวใจสำคัญคือน้ำ แล้วน้ำของเขาหายากมาก เขายิ่งต้องรู้คุณค่า ดินเขาก็ให้ความสำคัญเขามีวิธีการทำให้ดินทรายมีธาตุอาหารเช่นใช้ใบไม้แห้ง วัตถุอินทรีย์ต่างๆมาหมักดิน แต่เท่าที่สัมผัสนะวิธีการเขาด้อยกว่าหลักทฤฎีใหม่ของในหลวงเรามาก “เวลามีกิจกรรมรวมกลุ่มจากประเทศต่างๆที่ทางพื้นที่จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ทางพวกเรานักศึกษาอาชีวะเกษตรไทยมีการร่วมกันทำโมเดลเป็นแปลงเกษตรจำลองรูปแบบทฤษฎีใหม่ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯไปขยายความให้พวกเขาได้เห็น อธิบายให้ฟังถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่9 ส่วนใหญ่ประเทศในกลุ่มอาเซียนพวกเราสนใจแล้วก็ในกลุ่มประเทศเอธิโอเปีย เคนย่าก็สนใจ” นักศึกษาบอกว่าตอนเรียนไม่ค่อยนึกถึงหลักการที่อาจารย์สอนเท่าไหร่ก็เรียนและทำไป แต่พอมาทำให้คนอื่นดูทำให้ย้อนนึกถึงแล้วเทียบดูกับที่ได้ประสบการณ์จากอิสราเอลหลักการเกษตรที่ในหลวงรัชกาลที่9ของเราทรงแนะทรงสอนทรงวางหลักไว้ให้สุดยอดเลยดีกว่ามาก ที่เอาแนวพระราชดำริไปเผยแพร่แม้จะกลุ่มเล็กๆถ้าเขาเอาไปประยุกต์ใช้ในบ้านเมืองเขาเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จแน่นอน นักศึกษาทุกรุ่นที่ไปร่วมกับโครงการทวิภาคีไทย-อิสราเอลใช้เวลาอยู่ที่อาลาวา 11 เดือนจากคำบอกเล่าย้ำว่านอกจากได้ประสบการณ์ด้านการพัฒนาการเกษตรของเขาที่พื้นดินเป็นทราย ธาตุอาหารที่เหมาะสำหรับพืชกับดินที่ขาดแคลนธาตุอาหาร ขาดแคลนน้ำ แต่เขาก็พัฒนาให้ได้ผลผลิตที่ดีและหลายชนิดเป็นสินค้าส่งออกด้วย ก็สามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับดินที่ใกล้เคียงในบ้านเราได้ เด็กๆบอกอีกว่าที่ได้ประโยชน์อีกทางคือเราเหมือนไปทำงานที่นั่นมีรายได้เฉลี่ยต่อวันคิดเป็นเงินไทย 3,000 บาท(สกุลเงินเรียกเช็คเกน) นศ.ที่ร่วมพูดคุยเพิ่งกลับมาจากอิสราเอล นายฟานดี้ ลัสมาน วษท.สตูล นางสาวสิริพร พาหา วษท.ชุมพร นางสาวชลิตา พูลเลิศ รร.รปค.55 จ.ตากและนายพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เกษตรกรรุ่นใหม่เกษตรกรสมาร์ทฟาร์มเมอร์กระทรวงเกษตรฯจ.มหาสารคาม ความเป็นมาโครงการจัดการเรียนการสอนทวิภาคีไทย-อิสราเอล(ARAVA INTERNATIONAL CENTER FOR AGRICULTURE TRAINING) มีวิทยาลัยเข้าร่วมคือเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด มหาสารคามและศรีสะเกษ เมื่อปี2541 กรมอาชีวศึกษาได้ส่งครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กองทัพภาคที่3 และธานาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อฝึกทักษะและประสบการณ์ด้านเกษตรในโครงการศึกษาและปฏิบัติงานเกษตรกรรมก้าวหน้าเป็นเวลา 11 เดือน ปี2543 มีการพัฒนาความร่วมมือจากโครงการฯเป็นโครงการความร่วมมือจัดการเรียนการสอนปวส.พืชศาสตร์(ทวิภาคี)ไทย-อิสราเอลโดยนายวีระศักดิ์ วงศ์สมบัติเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(กอศ.)เป็นผู้เริ่มก่อตั้ง และได้มอบหมายให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ดดำเนินการจัดการเรียนการสอนปวส.พืชศาสตร์ทวิภาคีไทย-อิสราเอลขึ้น โดยมีนายเกรียงศักดิ์ ศิลป์ประสิทธิ์ผอ.เป็นประธานโครงการฯ มีนักศึกษารุ่นแรก 40 คน ปัจจุบันมีอีกสองวิทยาลัยเข้าร่วมคือเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคามและศรีสะเกษ ดำเนินการเข้าสู่ปีที่18 มีนศ.เข้าร่วมรวม 2,114 คน