“หัวหน้าศูนย์ศิลปะและการช่างไทย”สำนักช่างสิบหมู่เผยรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ศิลปกรรมพระเมรุมาศ ร.9 คืบหน้า 65% เตรียมจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ ทำนิทรรศการให้ปชช.เรียนรู้หลังพระราชพิธี นางประภาพร ตราชูชาติ นักวิชาการช่างศิลป์ ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์ศิลปะและการช่างไทย สำนักช่างสิบหมู่ เปิดเผยว่า โครงการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมงานจัดสร้างพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีความคืบหน้าร้อยละ 65 โดยบุคลากรของศูนย์ศิลปะและการช่างไทยได้ติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกกระบวนการสร้างงานด้านศิลปกรรม ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และงานประณีตศิลป์ โดยในส่วนของงานประติมากรรมเก็บลักษณะการทำงานและเรียบเรียงข้อมูลต่างๆ ถึงกระบวนการทำสีแล้ว และการติดตั้งในพื้นที่จริง พระเมรุมาศครั้งนี้นอกจากกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่จัดสร้างแล้ว ยังมีประติมากรรมราวบันไดนาคศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.อยุธยาและศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง ดำเนินงาน ส่วนสัตว์หิมพานต์มีกลุ่มช่างปั้นปูนสดจังหวัดเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่างร่วมสร้าง ซึ่งการทำงานเชิงช่างต่างกัน สัตว์หิมพานต์เมืองเพชรบุรีใช้ปูนตำ ส่วนเพาะช่างขึ้นรูปด้วยโฟม ก่อนทำพิมพ์ และเขียนสี นางประภาพร กลาวอีกว่า ส่วนงานบูรณะราชรถราชยานจะเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด ครั้งนี้พระมหาพิชัยราชรถปิดทองประดับกระจกใหม่ทั้งองค์ ส่วนราชรถน้อยซ่อมครั้งใหญ่เพื่อให้ได้โครงสร้างที่แข็งแรง ไม้ที่เสื่อมสภาพ แกะสลักลวดลายใหม่แทนของเดิม ปิดทองประดับกระจกอย่างสมบูรณ์ที่สุด ส่วนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยที่จัดสร้างใหม่ได้ถอดแบบจากพระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิม เช่นเดียวกันราชรถปืนใหญ่จัดสร้างใหม่ ทั้งรูปทรง ลวดลาย อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลส่วนต่างๆ ทั้งนี้ งานประณีตศิลป์ในพระราชพิธีครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งก่อน การจัดสร้างพระโกศจันทน์เป็นครั้งแรกที่มีปิดทองและประดับเทพพนมงดงาม ส่วนฐานรองพระโกศจันทน์มีลวดลายครุฑสื่อพาหนะของพระนารายณ์ อุบะเดิมเป็นเทคนิคซ้อนไม้ จัดทำใหม่ใช้งานแกะสลัก หรือสายรัดม่านพระมหาพิชัยราชรถเป็นคริสตัล ช่างสิบหมู่ออกแบบสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ในงานพระเมรุมาศครั้งนี้ งานจิตรกรรมฉากบังเพลิง ภาพฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรมมีการเขียนแสงเงา ตัดเส้นแบบไทยตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 โครงการนี้จะเก็บงานเชิงช่างอย่างละเอียดเพื่อสืบทอดกระบวนการทำงานทั้งเก่าและใหม่ “เป้าหมายการดำเนินงานโครงการรวบรวมข้อมูล เพื่อรวมองค์ความรู้ด้านพระเมรุมาศและกระบวนการงานช่าง จัดพิมพ์เป็นหนังสือรวมองค์ความรู้ด้านศิลปกรรม ความหนา 400 หน้า จำนวน 1,000 เล่ม เพื่อเผยแพร่ในลำดับต่อไป นอกจากนี้ยังมีการถอดองค์ความรู้แต่ละส่วนงานควบคู่กันไป เพื่อผลิตเป็นหนังสืออีกหลายเล่ม กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ อีกทั้งข้อมูลจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในนิทรรศการหลังพระราชพิธี ระหว่างวันที่ 1-30 พ.ย. เมื่อประชาชนได้เข้าชมจะเกิดความเข้าใจงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศได้ดี” หน.ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย กล่าว