"มีชัย"ย้ำ ศาลอ่านคำพิพากษาได้หาก "ปู"ไม่มาศาล ปัดตอบปม ร่าง พ.ร.บ.ฯคดีนักการเมืองมีผลบังคับใช้ ก่อนยื่นอุธทรณ์ ชี้ ต้องรอศาลตัดสินภาค 2ก่อน เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณาคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่าตอนนี้ยั้งไม่ถึงขั้นอุทธรณ์เพราะคดียังไม่ตัดสิน ต้องรอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษา ในวันที่ 27 ก.ย. ก่อน แล้วหลังจากนั้นถึงค่อยมาคิดเรื่องอุทธรณ์ ทั้งนี้ศาลฯสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ถ้าหากจำเลยไม่เดินทางมาที่ศาลฯ เมื่อถามว่าจำเลยจำเป็นต้องมาปรากฏตัวที่ศาลฯด้วยหรือไม่ถ้าหากจะยื่นอุทธรณ์ นายมีชัยกล่าวว่าก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าใครจะยื่นอุทธรณ์ ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรธ.ได้เขียนไว้ว่าถ้าหากจะยื่นอุทธรณ์ จำเลยต้องมายื่นด้วยตัวเองต่อหน้าศาลฯ แม้ร่าง พ.ร.บ.ฯยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ว่ากฎหมายวิธีการพิจารณาคดีอาญาฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้อยู่นั้น ก็มีการบัญญัติเรื่องนี้เอาไว้เช่นกัน แต่อาจจะไม่เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.ฯที่ กรธ.ได้กำหนดไว้ โดยกำหนดไว้ว่าถ้าหากต้องการยื่นอุทธรณ์ จำเลยต้องมาแสดงตนต่อหน้าศาลฯ เมื่อถามถึงเรื่องการยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อนำมาชดใช้ค่าเสียหาย นายมีชัยกล่าวว่าการยึดทรัพย์นั้นเกิดจากคดี 2 อย่างคือคดีแพ่งกับคดีอาญา ถ้าคดีแพ่งก็จะยึดทรัพย์ตามที่เป็นหนี้ ส่วนคดีอาญานั้นจะมีโทษปรับกับโทษชดใช้ค่าเสียหาย โทษปรับ ถ้าไม่ชำระเงินค่าปรับก็ต้องถูกขังแทนจำนวนเงิน ส่วนโทษชดใช้ค่าเสียหายนั้นเป็นเรื่องทางแพ่งต้องตามไปยึดทรัพย์ เวลายึดทรัพย์แม้เจ้าตัวไม่อยู่ก็ไม่เป็นไร สามารถตามไปยึดได้ เมื่อถามว่าถ้าหากมีทรัพย์ที่จะยึดมูลค่าน้อยกว่าค่าความเสียหายหรือมีการถ่ายโอนไปยังบุคคลอื่นแล้ว จะสามารถตามยึดทรัพย์ได้อยู่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เจ้าหน้าที่พนักงานบังคับคดีหรือเจ้าหนี้ก็ต้องไปติดตามดูว่าจะไปยึดตรงไหนได้บ้าง ถ้าบังเอิญเป็นของคนอื่น ก็ต้องไปร้องต่อศาลฯว่า ขาดทรัพย์ ให้ดำเนินการเอาทรัพย์นั้นคืนมานี่เป็นกระบวนการตามปกติ ก็ต้องนำสืบกันต่อไป นายมีชัยกล่าวว่าตนตอบไม่ได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฯนั้นจะมีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเสร็จสิ้นขั้นตอนการอุทธรณ์หรือไม่ ตนไม่อยากจะคาดเดาเพราะว่าจะเป็นอย่างไร เพราะศาลฯอาจจะตัดสินว่ายกฟ้องก็ได้ ส่วนกรณีที่ศาลฯตัดสินว่าไม่ผิด แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับมาแล้วโดนโทษหนีคดีหรือไม่นั้น เรื่องนี้ตนไม่แน่ใจ ต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน เมื่อถามถึงกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์อดีตรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงพาญิชย์ที่ถูกตัดสินจำคุกนั้นศาลฯเริ่มมีคำพิพากษาไปแล้วก็หมายความว่าสามารถนับหนึ่งเพื่อเริ่มกระบวนการอุทธรณ์ได้ ภายใน 30 วันตามรัฐธรรมนูญโดยไม่จำเป็นต้องใช้หลักฐานใหม่ เมื่อถามต่อถึงประเด็นการไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา นายมีชัยกล่าวว่านี่เป็นดุลยพินิจของศาลฯที่จะพิจารณาพฤติกรรมของจำเลยว่าจะหลบหนีหรือไม่ เขาต้องระมัดระวัง เพราะที่ผ่านมาก็มีผู้พิพากษาที่ถูกไล่ออกเพราะให้จำเลยประกันตัวไปแล้วจำเลยก็หนี เมื่อถามต่อว่านายบุญทรงอาจจะยังมีประเด็นที่ยังพูดไม่ได้ในการขึ้นศาลฯครั้งแรก ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลต่อการต่อสู้การขึ้นศาลฯครั้งต่อไปได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่าถึงเวลานี้คนเราต่างก็รักชีวิต เพราะเขาเปิดโอกาสให้ต่อสู้แล้ว ก็ต้องเอาข้อเท็จจริงที่มีมาสู้ ถ้าหากยังมามัวกลัวว่าพูดแล้วจะไปโดนคนนู้นคนนี้ สุดท้ายแล้วตัวเองก็ไม่ได้สู้ แต่เรื่องนี้ก็แล้วแต่คนเหมือนกัน เพราะบางคนอาจจะตายแทนกันได้ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลฯว่าเขาจะพิจารณาหลักฐานต่างๆกันอย่างไร ข้อเท็จจริงอะไรบ้างที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อถามต่อว่าในอนาคตจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร หากมีการสั่งการที่ไม่สุจริตจากนักการเมืองไปยังข้าราชการแล้วปราศจากหลักฐานยืนยันข้อสั่งการ เพื่อนำไปใช้อ้างในศาลฯ นายมีชัยกล่าวว่าก็ต้องทำบันทึก ในรัฐธรรมนูญใหม่เปิดช่องเอาไว้ถึงขั้นที่ว่าถ้าไม่สามารถทำบันทึกได้ก็ให้ไปแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งในอนาคตนั้น กรธ.คงจะเขียนว่าถ้าหากข้าราชการไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ก็ให้ปิดชื่อเอาไว้