คนไทยได้เฮ ! อีกครั้ง เมื่อ 5 ทีมไทยคว้ารางวัลจากการแข่งขัน DELTA CUP 2017 การประกวดนวัตกรรมที่ใช้ระบบอัตโนมัติสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ที่เมืองหวู่เจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน เวทีนานาชาติที่ท้าทายความสามารถและเปิดโอกาสให้เยาวชนนักศึกษาพัฒนาศักยภาพในด้านวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ จัดโดย เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาชนจีน ยงยุทธ ภักตร์ดวงจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า DELTA CUP 2017 มีผู้ส่งผลงานรวม 74 ทีม โดยการแข่งขันแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ประเภทหุ่นยนต์ (Smart Robots) 2.ประเภทเครื่องจักรกลอัจฉริยะ (Smart Machine) และ 3.ประเภทอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ที่ผ่านมาเดลต้าร่วมกับมหาวิทยาลัยของไทย จัดหลักสูตร Industrial Automation ถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบออโตเมชั่นแก่นักศึกษาคนรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต ซึ่งนักศึกษาทั้ง 5 ทีมที่ได้รางวัลจาก DELTA CUP 2017
แสดงถึงศักยภาพในการนำองค์ความรู้จากชั้นเรียนและการฝึกปฏิบัติมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาและเกิดประโยชน์ได้จริง
สำหรับ 5 ผลงานที่สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทย ได้แก่ 1. เครื่องคัดแยกไข่เสียในตู้ฟักอัตโนมัติ (Non Hatched Smart Detection) คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ฝีมือของเมคเกอร์ชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายธนกร วัฒนาพร หัวหน้าทีม กล่าวว่า การใช้งานคือนำไข่เข้าเครื่องตามปริมาณที่กำหนด เครื่องจะทำการประมวลผลภาพและคัดไข่ที่ไม่สามารถฟักออกให้อัตโนมัติ ช่วยให้เกษตรกรฟาร์มไก่มีผลกำไรมากขึ้นและเพิ่มคุณภาพของผลผลิต 2.ตู้โปสการ์ดอุจฉริยะ ได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ฝีมือของเมคเกอร์ชั้นปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายสันติสุข สัจวาที เผยถึงผลงานนี้ว่า นักท่องเที่ยวสามารถเลือกภาพตามต้องการ แจ้งค่าธรรมเนียมของแสตมป์ และบริการรับ-ส่งโปสการ์ดเสร็จสรรพภายในเครื่องเดียวกัน เราเชื่อมต่อ Internet of Things และระบบ automation ซึ่งใช้ PLC คู่กับหน้าจอ HMI และ Photoelectric sensor มาใช้ในการควบคุมระบบทั้งหมด 3. เครื่องแยกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (SMD Disassembly Machine) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ฝีมือของเมคเกอร์ชั้นปี 2 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายนริศ อัศวเลิศศักดิ์ หัวหน้าทีม กล่าวว่า เราเพียงใส่บอร์ดหรือแผงวงจรลงไป จะมีหน้าจอขึ้นมาให้เลือกว่าต้องการนำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นไหนออกจากเครื่อง แล้วเเยกออกมาให้เองเเบบอัตโนมัติ 4.Healthy Hub ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ฝีมือของเมคเกอร์ชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นางสาวธวัลรัตน์ ศิริวัฒนาเลิศ หัวหน้าทีมเผยว่า วิธีการใช้งาน Healthy Hub ผู้ใช้บริการนั่งที่หน้าเครื่อง จะมีเครื่องชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เครื่องวัดความดันและอัตราการเต้นของหัวใจ แล้ว log in เข้าไป หากไม่เคยเป็นสมาชิกก็สมัครได้ที่ตัวเครื่องเลย เมื่อเข้าสู่ระบบเครื่องจะให้กรอกข้อมูลเพื่อที่จะนำไปใช้วินิจฉัยโรค เครื่องจะถามว่ามีแพทย์ประจำตัวหรือไม่ ถ้ามีก็สามารถเลือกได้เลย แต่ถ้าไม่มี เครื่องจะแนะนำแพทย์ในพื้นที่ให้ ผู้ใช้บริการจะได้วีดีโอคอลกับแพทย์ เครื่องสามารถจ่ายยาตามคำสั่งแพทย์ พร้อมใบรับรองแพทย์และสามารถทำการนัดหมายครั้งถัดไป และ 5.เครื่องจัดเก็บอุปกรณ์อัจฉริยะ Ripbatอีกหนึ่งผลงานนวัตกรรมจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลชมเชย โดยฝีมือของเมคเกอร์ชั้นปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะช่วยให้การจัดการเครื่องมือต่างๆเป็นระเบียบมากขึ้น เข้าถึงการใช้งานด้วยระบบการยืม-คืนที่มีประสิทธิภาพ - ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ [email protected] ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เพจ “สยามรัฐ สตรี-เยาวชน”