สังเวยแผนสันติภาพในพม่า นักสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่เผยทุนมากมายใช้เพื่อเจรจา แต่ตัดความช่วยเหลือค่ายผู้หนีภัยสู้รบ จนชาวบ้านจะไม่มีข้าวกิน วันที่ 30 ส.ค.60 ที่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการศึกษาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ ได้จัดบรรยายสาธารณะเรื่อง “สถานการณ์ผู้ลี้ภัยก่อน/หลังการเจรจาสันติภาพในพม่า” โดยมีตัวแทนคณะกรรมการผู้ลี้ภัยไทยใหญ่ ตัวแทนมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ และน.ส.ฐปนีย์ เอียดศรีชัย นักข่าวจากรายการข่าว 3 มิติ ร่วมกันบรรยายให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจกว่า 300 คน ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ฯกล่าวว่า ในเพื่อนบ้านมีประชาชนที่หลบหนีภัยสงคราม แต่เมื่อมีการเจรจาสันติภาพขึ้นมา เราอยากรู้ว่าสถานการณ์ที่กำลังดำเนินเป็นอย่างไร และคนที่อยู่ในศูนย์ลี้ภัยชั่วคราวอยู่กันอย่างไร ดังนั้นจึงอยากเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไร้เสียงเหล่านี้ นางสาวจ๋ามตอง ผู้แทนมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ กล่าวว่า 21 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1996-1998 มีการกวาดล้างขับไล่ชาวรัฐฉานตอนกลางใน 11 เมืองโดยกองทัพทหารพม่าใช้ปืนจี้ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่และหนีตายเข้ามาในประเทศไทย โดยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายและมีการข่มขืนอย่างเป็นระบบจากทหารพม่า หลายคนถูกข่มขืนเป็นหมู่ แม่และลูกถูกข่มขืนในคราวเดียวกันโดยร้อยละ 25 จะถูกฆ่า และมีเพียงกรณีเดียวที่ทหารพม่าถูกลงโทษ และอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวรัฐฉานต้องลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากเมื่อปี 1999-2001 กองทัพพม่าและกองทัพว้าทำสัญญาความร่วมมือเพื่อลดการปลูกฝิ่นโดยโดยย้ายประชากรว้ากว่า 1 แสนคนมาทางใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนไทยใหญ่และแย่งที่ทำกินของชาวไทยใหญ่ นางสาวจ๋ามตองกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยหลบหนีการสู้รบมาอยู่ในค่ายต่างๆตามชายแดน 6 แห่งราว 6.2 พันคน ขณะที่คนไทยใหญ่อีกนับหมื่นนับแสนต้องเข้ามาหางานทำในประเทศไทยเพราะไม่มีค่ายอาศัยอยู่ สาเหตุที่ชาวบ้านไม่สามารถกลับบ้านได้ทุกวันนี้เพราะการเพิ่มของทหารพม่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ทำสัญญาหยุดยิงแล้ว เช่นกรณีเมืองงาย เมื่อก่อนเคยมี 224 หมู่บ้านแต่ตอนนี้เหลือ 83 หมู่บ้าน และบางพื้นที่กำลังมีโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน หรือเขื่อนเมืองโต๋นที่เมืองพันเกาะซึ่งจะทำให้ชาวบ้านไม่สามารถกลับบ้านได้อีกเลย นางสาวจ๋ามตองกล่าวว่า ล่าสุดคือกำลังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมืองกก โดยบริษัทอิตัลไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการประท้วงคัดค้านจนต้องหยุดไปแล้ว แต่ล่าสุดทหารพม่าได้สั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่เพราะโครงการจะเริ่มแล้ว ขณะที่การเจรจาสันติภาพแม้จะมีการหารือกันมาเรื่อยๆแต่การสู้รบก็ยังคงเกิดขึ้น โดยปี 2015 มีการโจมตีกันอย่างรุนแรง ขณะที่นานาชาติยังคงสนับสนุนแผนสันติภาพในพม่าทั้งๆที่ยังมีการสู้รบ แม้กระทั่งมีการทำสัญญาหยุดยิง แต่ก็ยังมีการสู้รบ ที่สำคัญคือมีการลงนามหยุดยิงแค่ 8 กลุ่ม แต่อีกจำนวนมากไม่ได้ลงนามแต่การประชุมปางโหลงก็ยังเดินหน้าโดยนางอองซานซูจีเข้าร่วม “การตัดงบช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบของนานาชาติ เขาบอกว่าสนับสนุนสันติภาพในพม่า แต่ประเทศเดียวกันก็บอกว่าไม่ควรให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยแล้ว ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า กลุ่มคนที่หนีภัยตามชายแดนไทยจะไม่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ขณะที่มีเงินทุนมากมายที่ใช้ในกระบวนการสันติภาพ”นางสาวจ๋ามตอง กล่าว นายจายเป็ง ผู้แทนคณะกรรมการค่ายผู้ลี้ภัยไทยใหญ่กล่าวว่า พื้นที่จำนวนมากถูกยึดโดยกองทัพว้า ทำให้ชาวบ้านทั้งไทยใหญ่ อาข่า ต้องหนีข้ามมาอยู่ในฝั่งไทยและไม่สามารถกลับคืนได้ เพราะการสู้รบเกิดขึ้นได้เสมอในพื้นที่เหล่านี้และไม่มีความปลอดภัย อยากขอความเมตตาเพราะชาวบ้านเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาชาติ นางสาวแสงอิน ครูในค่ายผู้ลี้ภัยบนดอยก่อวัน ฝั่งรัฐฉานกล่าวว่าการเรียนการสอนในค่ายเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยใน 5 ค่อยฝั่งรัฐฉานมีนักเรียนราว 1 พันคน มีเด็กจำนวนมากที่พ่อแม่เสียชีวิตเพราะถูกทหารพม่าฆ่าตาย นอกจากนี้เด็กจำนวนไม่น้อยมีปัญหาเรื่องการขาดสารอาหาร รวมทั้งมีข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน หากเราได้รับการสนับสนุนที่ดี เด็กๆก็จะเติบโตขึ้นมาช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองได้ นางสาวแสงอิงกล่าวว่า ด้านสุขภาพแม้จะมีสถานพยาบาลอยู่ในค่ายแต่เป็นเพียงขั้นพื้นฐานเท่านั้น หากมีผู้ป่วยรุนแรงก็ต้องส่งเข้าโรงพยาบาลฝั่งไทย แต่การเดินทางเป็นไปด้วยความลำบากและใช้เวลานานจนหลายคนต้องเสียชีวิตก่อน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันเพื่อให้เด็กๆได้มีอนาคต อนึ่ง ปัจจุบันมีค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทย โดยมีชาวบ้านราว 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ได้ถูกลดความช่วยเหลือลงซึ่งเดิมทีองค์กรสาธารณะกุศลของชาติตะวันตกได้ร่วมกันสนับสนุนข้าวและสิ่งของจำเป็น ขณะที่ผู้ลี้ภัยอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในศูนย์พักพิงพื้นที่ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อีกร่วม 1 หมื่นคน จะถูกตัดความช่วยเหลือสิ้นเชิง เนื่องจากรัฐบาลพม่าต้องการกดดันให้คนเหล่านี้ย้ายกลับถิ่นฐาน แต่ในพื้นที่ยังมีการสู้รบ ผู้หนีภัยเหล่านี้จึงไม่ยอมกลับ โดยล่าสุดเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงและเครือข่ายชาวไทยใหญ่กำลังจัดกิจกรรมรณรงค์หาทุนซื้อข้าวไปบริจาคให้ผู้หนีภัยการสู้รบเหล่านี้