ศูนย์ศิลปาชีพฯเผยภาพรวมงานประติมากรรมบันไดนาคและเทพชุมนุมกำหนดแล้วเสร็จพร้อมขนย้ายไปติดตั้งพระเมรุมาศ 15 ก.ย.นี้ เป็นครั้งแรกสร้างประติมากรรมเทพชุมนุมท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน ความคืบหน้าประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายสุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างราวบันไดนาคและประติมากรรมท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธานพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยนักเรียนศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา และสีบัวทอง จ.อ่างทอง เปิดเผยว่า ภาพรวมการจัดสร้างประติมากรรมที่ศูนย์ศิลปาชีพได้รับมอบหมายคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 95 โดยงานประติมากรรมราวบันไดนาคชั้นที่ 4 ที่อยู่ระหว่างการประดับเลื่อมกระจกสีทอง และการประกอบงานหล่อไฟเบอร์กลาสเป็นรูปร่างนาคนิรมิตพญาอนันตนาคราช หรือ นาค 7 เศียร ที่ประดับชั้นพระเมรุมาศองค์ประธานบนสุด ส่วนราวบันไดนาคอีก 3 ชั้น และบันไดนาคซ่าง 4 มุมเสร็จแล้ว เทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ 132 องค์ อยู่ระหว่างประดับเลื่อมกระจก ส่วนเทพยดาท้องไม้ ได้แก่ครุฑยุดนาค และเทพพนมนั่งส้น 70 องค์ ปั้นต้นแบบใกล้แล้วเสร็จ ขณะที่งานแกะสลักเทพยดาประดับกลีบจงกลพระโกศจันทน์ดำเนินการเสร็จแล้ว กำหนดจัดพิธีทำบุญและส่งมอบก่อนขนย้ายไปติดตั้งยังพระเมรุมาศในวันที่ 15 ก.ย.นี้ นายสุดสาคร กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดสร้างราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของชาติ เพราะเป็นการรวบรวมศิลปกรรมและการสืบทอดภูมิปัญญางานช่างโบราณเอาไว้ด้วยกัน สอดคล้องกับแนวคิดของนายก่อเกียรติ ทองผุด ผู้ออกแบบพระเมรุมาศที่กำหนดไว้ และศึกษาเพิ่มเติมจากรูปแบบงานช่างโบราณให้เป็นไปตามจารีตประเพณี แต่เพิ่มเติมให้เป็นศิลปะสมัยปัจจุบัน เพื่อให้งานครั้งนี้ถวายพระเกียรติยศสูงสุดแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 องค์ราชันผู้ยิ่งใหญ่ของชาวไทย ดังนั้น ประติมากรรมครั้งนี้ จึงใช้สีสูงที่สุดในศิลปกรรมของชาติ “ราวบันไดชั้นที่ 1 นาคเศียรเดียวลงยาสีเงิน เขียว และสีแดง ซึ่งสีแดงนี้นำต้นแบบการให้สีมาจากผนังจิตรกรรมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ บันไดชั้นที่ 2 ที่เป็นนาค 3 เศียร หรือ มกรนาคา เป็นนาคผสมมังกร ประดับเลื่อมและลงยาสีน้ำเงิน เป็นชั้นที่มีความพิเศษรวบรวมงานศิลปกรรมทุกด้านเอาไว้อย่างครบถ้วน ชั้นที่ 3 นาค เป็นนาค 5 เศียร ไม่ลงยาสีแต่ประดับ เลื่อมสีเงิน ส่วนชั้นที่ 4 พญาอนันตนาคราช หรือ นาค 7 เศียรซึ่งถือที่มีความสำคัญที่สุด จะประดับด้วยเลื่อมสีทองส่งประกายวาว ตามแบบราชสำนัก ไม่ลงยาสี ประดับมงกุฎสีเงินบนยอดมงกุฎให้ดูสง่างาม” นายสุดสาคร กล่าว ด้าน นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า ในงานพระเมรุมาศในหลวง รัชกาลที่ 9 ถือเป็นครั้งแรกในการสร้างเทพยดาท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน เป็นเทพพนมนั่งส้น ออกแบบเป็นคุรฑและยักษ์ รวมถึงมีการสร้างเทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ จำนวน 132 องค์ มีครุฑพนมนั่งราบ ยักษ์พนมนั่งราบ พานรพนมนั่งราบ เทวดาพนมนั่งราบ แต่ละชั้นแสดงถึงเทพเทวดามาชุมนุมอัญเชิญส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเปรียบดั่งสมมติเทพคืนสู่สรวงสวรรค์เป็นคติความเชื่อตามโบราณราชประเพณีผสมผสานงานช่างไทยจัดทำอย่างเต็มที่เพื่อให้พระเมรุมาศสง่างามและอลังการที่สุด โดยเทพยดาแต่ละองค์อาศัยรูปแบบจากวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ถือเป็นองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังเรียนรู้