"รอยล"ถกปฏิรูปสิ่งแวดล้อมวางกรอบการทำงาน 6 ด้านเตรียมยกแผนบริหารจัดการน้ำปทุมธานีขยายผลปฏิรูปต่อ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 31 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายรอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯครั้งที่ 1/2560 โดยนายรอยล แถลงภายหลังการประชุมว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อกำหนดกรอบแนวคิดการดำเนินงานปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและแนวทางการทำงานของคณะกรรมการ โดยมีการจัดกลุ่มงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6 เรื่อง คือ 1.ทรัพยากรดิน แร่ธาตุ ป่าไม้และสัตว์ป่า 2.ทรัพยากรน้ำ 3.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4.ทรัพยากรชีวภาพ 5.สิ่งแวดล้อม และ6.การบริหารจัดการ รวมถึงช่องโหว่ในการทำงานที่ต้องได้รับการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันเรื่องที่คณะกรรมการเตรียมหยิบยกขึ้นมาพูดคุยนั้น ที่พูดคุยเบื้องต้นคงต้องขอความเห็นชอบก่อน แต่ที่คิดว่าชัดเจน คือ การบริหารจัดการน้ำและการป้องกันอุทกภัยที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ลงพื้นที่ปทุมธานี ซึ่งมีการบริหารจัดการน้ำสำเร็จแล้วจะนำมาขยายผลต่อ นายรอยล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 14 ก.ย. เสนอวิธีการรับฟังและเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็น ส่วนแผนการปฏิรูปจะต้องเสนอภายในวันที่ 28 ธ.ค.เพื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะได้นำไปพิจาณาปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา นายกฯมอบหมายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธานการประชุมประธานคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ได้กำชับในที่ประชุมว่า 1.การทำงานทำอย่างไรให้เกิดผลในทางปฏิบัติ 2.แผนปฏิรูปที่มีอยู่แล้วจะนำมาใช้อย่างไร 3.เรื่องของการใช้เงินงบประมาณ ฝากความหวังว่าจะใช้เงินน้อยและได้งานมาก รวมถึงกำชับการทำงานว่าถ้างานจะเร็วขึ้นไม่ต้องรอให้ข้างบนสั่งให้คณะกรรมการทำงานเลย อย่างไรก็ตามการเสนอแนะกรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) นั้น อยู่ในแผนงานของคณะกรรมการฯว่าจะปรับอย่างไรหรือทำอย่างไร ทั้งนี้ อาจมีการตั้งคำถามว่าตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาจะช่วยอะไรได้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร เราจึงคิดว่าจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม และการทำงานต่อจากนี้จะลดเรื่องขัดแย้งและเพิ่มความร่วมมือต่างๆ ให้มากขึ้นและทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น