นานาชาติชี้ไทยคม8 ทำคอนโดฯดาวเทียมถูกทาง แนะการรวมกลุ่มกันช่วยลดต้นทุนในตลาด-สร้างความแข็งแกร่งการต่อรองราคา แนะหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐต้องชัดเจน พล.อ.ต.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ ผู้ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและช่วยปฏิบัติงานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู จัดประชุม International satellite symposium 2017 ระหว่างวันที่ 31 ส.ค.- 1 ก.ย.2560 ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยในงานมีการพูดคุยกันเรื่องแนวโน้มดาวเทียมสื่อสารในอนาคต ,การพัฒนาอุตสาหกรรมดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย ,การแข่งขันในอุตสาหกรรมดาวเทียมที่ใช้งานสำหรับกิจการสื่อสารและกิจการกระจายเสียง และแนวโน้มธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็กในอนาคตรวมทั้งพิจารณาในประเด็นกฎระเบียบสำหรับกิจการดาวเทียมของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยไอทียูได้มีกฎที่ผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารจะใช้วงโคจรได้ต้องมาในนามของประเทศนั้นๆ ซึ่งในการนำดาวเทียมขึ้นวงโคจรมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้นวิธีการที่ดีคือ การทำในรูปแบบของคอนโดมีเนียมดาวเทียม ซึ่งไทยเองก็มีไทยคม 8 คือการสร้างดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแล้วให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้เช่าใช้การดาวน์ลิงค-อัพลิงค์ด้วย เป็นการแชร์เพลย์โหลดที่ช่วยลดต้นทุนเจ้าของดาวเทียมสื่อสารลงได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการดาวเทียมของทั้ง Eutelsat และInmarsat ต่างมองว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดาวเทียมสื่อสารใช้ใน C Band ค่อยข้างมาก และมีระบบจัดการโดยรวมที่ค่อนข้างดี และหากเป็นไปได้ถ้ามีการรวมตัวกันในกลุ่มประเทศของภูมิภาคก็จะสร้างความแข็งแกร่งและโอกาสต่อรองในตลาดได้ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะบางครั้งปัญหาการจัดสรรคลื่นของแต่ละประเทศนั้นมีการกำกับกติกาที่ต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ปรกอบการรายใหม่เกิดขึ้นยาก และการกำกับดูแลที่ซับซ้อนภายในประเทศนั้นๆ ส่งผลให้เอกชนที่เป็นผู้สร้างดาวเทียมเสียโอกาสในการทำธุรกิจ สำหรับประเทศไทยนั้นมองว่า กรณีของไทยในส่วนของดาวเทียมสื่อสารดวงใหม่นั้น ก็มีปัญหาในส่วนของการกำกับดูแลที่ไม่ชัดเจนว่า อำนาจการให้ใบอนุญาตและการกำกับดูแลแท้จริงแล้วเป็นของหน่วยงานใดระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี หรือเป็นของสำนักงานกสทช. เมื่อระบบสัมปทานไม่มีแล้ว ดังนั้นการแก้กฎหมายให้ชัดเจนจึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำ อีกทั้งเพื่อไม่ให้เอกชนและประเทศเสียโอกาส