สัปดาห์นี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีกำหนดจะพาคณะผู้แทนไทย เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries Dialogue หรือ EMDCD) ในช่วงการประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 9 ในวันที่ 5 ก.ย. ที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน วันนี้เราจึงจะมาทำความรู้จักกับกรอบความร่วมมือ BRICS ที่ว่านี้ โดยจากข้อมูลของกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ คําว่า BRIC เป็นอักษรย่อใช้เรียกกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) โดยคํานี้ถูกบัญญัติขึ้นโดย นายจิม โอนีลล์ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจโลกจากโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งคําว่า BRIC ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการ ย้ายอํานาจเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง G7มาสู่กลุ่มประเทศกําลังพัฒนา โดยที่ประเทศทั้งสี่ข้างต้นมีพื้นที่รวมกันมากกว่าหนึ่งในสี่ของโลกและมีจํานวนประชากรรวมกันมากกว่าร้อยละ 43 ของประชากรโลก มีสัดส่วนใน GDP โลกประมาณ หนึ่งในสี่ของทั้งหมด และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันถึง 4.4 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ และในปี 2555 กลุ่มประเทศ BRICS (รวมแอฟริกาใต้เข้ามาด้วย) มีสัดส่วนในการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ คิดร้อยละ 11 ของโลก และมีสัดส่วนในการค้าโลกถึงร้อยละ 17 แม้ว่ากลุ่ม BRICS ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจหรือสมาคมการค้าอย่างเป็นทางการเหมือนสหภาพยุโรป (EU) แต่มีข้อบ่งชี้บางอย่างว่ากลุ่ม BRIC พยายามที่จะสร้างสมาคมหรือพันธมิตรทาง การเมืองรวมถึงเปลี่ยนอํานาจทางเศรษฐกิจที่กําลังเติบโตให้เป็นอํานาจการเมืองระดับภูมิภาค ซึ่งปัจจุบัน ประเทศแอฟริกาใต้ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRIC อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 โดยเปลี่ยนชื่อกลุ่มใหม่เป็น BRICS ซึ่งอักษรย่อ "S" ที่เพิ่มต่อท้ายเข้ามาหมายถึง South Africa หรือประเทศแอฟริกาใต้นั่นเอง สำหรับโครงสร้างความร่วมมือของ BRICS ในทุกๆปีจะมีการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ BRICS โดยจะจัดขึ้นในประเทศสมาชิก และเวียนไปเรื่อยๆจนครบรอบแล้วเริ่มใหม่ โดยการประชุมสุดยอดBRIC ครั้งที่ 1จัดขึ้น ที่เมือง เยคาเตรินบูร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อวันที่16 มิ.ย. 2552 ซึ่งผู้นำของทั้ง 4 ประเทศ (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) ได้หารือ เกี่ยวสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบัน พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นภายในกลุ่ม ได้มีการพูดถึงแนวทางความร่วมมือที่จะปฏิรูปสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศใหม่ โดยให้กลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา จะต้องมีเสียงและส่วนร่วมที่มากขึ้นในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งการปฏิรูปนั้นจะต้องยึดอยู่บนหลัก การดำเนินนโยบายที่เป็นประชาธิปไตยและมีความโปร่งใส มีพื้นทางกฎหมาย และต้องสร้างระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้กลุ่มประเทศ BRIC ยังส่งเสริมในการจัดการกับประเด็นปัญหาโลกร้อน ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน สนับสนุนการทูตแบบหลายมิติกับทางสหประชาชาติ ในการแก้ไขปัญหาและภัยคุกคามระดับโลก พร้อมทั้งต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบด้วย สำหรับการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 9 ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นระว่าง 5 - 6 ก.ย. นี้ จีนในฐานะประเทศเจ้าภาพ และประธานกลุ่มประเทศ BRICS ประจำปี 2560ได้เชิญประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีเอกลักษณ์และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีกับจีน จำนวน 5 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม EMDCD ได้แก่ เม็กซิโก ในฐานะประเทศกลุ่มจี 20 และประเทศจากภูมิภาคลาตินอเมริกา อียิปต์ ในฐานะประเทศจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ทาจิกิสถาน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของจีน กินี ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา และประเทศจากภูมิภาคแอฟริกา และไทย ซึ่งเป็นประเทศเดียวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม EMDCD "นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์" อธิบดีกรมสารนิเทศโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการที่จีนเชิญไทยเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เป็นเรื่องที่จีนให้ความสำคัญยิ่ง และเตรียมการมานานแล้ว โดยจีนให้เหตุผลที่เชิญไทยว่า ไทยเป็นประเทศที่จีนให้ความสำคัญ โดยตระหนักถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีต่อภูมิภาค และประชาคมระหว่างประเทศ และผู้นำของทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีต่อกันและดำเนินมาอย่างยาวนาน โดย อธิบดีกรมสารนิเทศกล่าวต่อว่า การเข้าร่วมประชุม EMDCD ของนายกรัฐมนตรีจะเป็นโอกาสที่ผู้นำของไทยจะได้แสดงวิสัยทัศน์ และบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมระหว่างประเทศ ตลอดจนการได้พบหารือทวิภาคีกับผู้นำจากกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสำคัญ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสานต่อความร่วมมือระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น สำหรับความสัมพันธ์ของ BRICS กับประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีความร่วมมือในกรอบทวิภาคี และพหุภาคีรวมถึงมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนกับประเทศต่างๆในกลุ่ม BRICS ที่สําคัญ อาทิ ไทย - จีน ได้แก่การทํา ASEAN-China FTA ในกรอบพหุภาคี ไทย - อินเดีย ซึ่งอินเดียยังเป็นตลาดใหม่ที่สําคัญที่สุดของไทย โดยในปี 2554 อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทยและเป็นอันดับที่ 1 ของไทยในเอเชียใต้ ไทย - รัสเซีย โดยรัสเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ไทย - บราซิล ทั้งสองประเทศได้มีการลงนามความตกลงทวิภาคีทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งในปีพ.ศ. 2554 ทั้งไทยและบราซิลต่างเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกันในอาเซียน และลาตินอเมริกา (แทนที่สิงคโปร์) และ ไทย - แอฟริกาใต้ ซึ่งแอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในทวีปแอฟริกาและเป็นตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของไทยในอนุภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้นอกจากนี้ในปี 2554 แอฟริกาใต้ยังเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย