วันที่ 1 ก.ย. 60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดตั้ง “จิตอาสาเฉพาะกิจงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ” ขึ้น เพื่อเป็นการรวมพลังความรัก และพลังน้ำใจของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ในการน้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ประกอบด้วยกิจกรรมอาสา 8 ประเภทได้แก่ งานบริการประชาชน, งานดอกไม้จันทน์, งานประชาสัมพันธ์, งานโยธา, งานขนส่ง, งานแพทย์, งานรักษาความปลอดภัย และงานจราจร โดยได้เปิดลงทะเบียนรับสมัครประชาชนจิตอาสาฯ ทั่วประเทศ ตลอดเดือนกันยายน ศกนี้ รายละเอียดตามหน้าจอ หรือสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ที่สายด่วน 1510 และ 1511 นะครับ ช่วงบ่ายวันนี้ วันที่ 1 กันยายน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จทรงปลูกต้นไม้ และทรงเป็นประธานในพิธีประทานกล้าไม้มงคล ตามโครงการ “ต้นกล้าจิตอาสา รวมพลังศรัทธา ปลูกป่าทั่วแผ่นดิน” ณ พุทธมณฑล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน” ที่รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกันสืบสานพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เรื่องการปลูกป่า ที่ไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารแก่มนุษย์และสัตว์เท่านั้นแต่ยังเป็น “ต้นทาง” ของระบบนิเวศน์, วัฏจักรแห่งฤดูกาล และวงจรการผลิตของประเทศด้วยนะครับ ปัจจุบัน “ต้นไม้ของเรา” ตามโครงการนี้ฯ มีประมาณ 3 แสนกว่าต้น บนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ทั่วประเทศ ก็ขอให้ดูแลต้นไม้ของท่านให้เติบใหญ่ แข็งแรง อุดมสมบูรณ์ด้วยนะครับ ทั้ง 2 กิจกรรมที่ผมได้กล่าวไปนั้น เป็น “ความผูกพัน-เกื้อกูลกัน” ของ 3 สถาบันหลักของประเทศ คือ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ที่หลอมรวมกันเป็น “ชาติไทย” เป็นชาติเอกราช มายาวนานกว่า 700 ปีแล้ว สิ่งที่ผมอยากจะบอก ไม่ใช่เพียงการเชิญชวนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรม “จิตอาสาและปลูกป่า” เท่านั้น แต่ผมต้องการชี้ให้เห็นถึง “ปริศนาธรรม” หรือ “กุศโลบาย” ที่แฝงอยู่ในกิจกรรมเหล่านั้นด้วย กล่าวคือ การมีจิตสำนึก จิตสาธารณะ นั้น เป็นพื้นฐานของความเสียสละเพื่อส่วนรวม และสำนึกในความรักชาติซึ่งจะนำไปสู่ความสามัคคีปรองดองของคนทั้งชาติ ที่มีเป้าหมายและวิสัยทัศน์เดียวกัน โดยสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสร้างได้เพียงข้ามคืน หรือสั่งซื้อได้ แต่ต้องอาศัยการปลูกฝังอย่างมีแบบแผน และต้องอาศัยเวลา เหมือนการ “ปลูกป่าในใจคน” ตามศาสตร์พระราชา ที่เราต้องอดทนรอ “การผลิดอกออกผล” เช่นเดียวกับ การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกว่าจะเห็นผล ก็ใช้เวลา5 ปี, 10 ปี หรือ 20 ปี นะครับ สำหรับ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องต่างๆ นั้น เราควรค้นหา “แก่นแท้” หรือความหมายที่แท้จริงให้พบ เพื่อจะนำไปปฏิบัติ หรือสั่งสอนลูกหลานได้อย่างถูกต้อง ผมเคยพูดกับพี่น้องประชาชน และพี่น้องข้าราชการ อยู่เสมอๆ ว่า พวกเราอาจจะ “รู้” ว่าโดยหลักการแล้ว “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” คืออะไร แต่เราจะ “เข้าใจ” หรือไม่ ก็ต้องดูว่า ใครสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือการประกอบอาชีพและได้ผลเป็นเช่นไร และก็เหมือนกับที่ผมเพียรบอกพี่น้องกับสื่อมวลชนว่า การนำเสนอข่าวของรัฐบาลนั้น ไม่ควรเสนอข่าวในลักษณะ “ประชาสัมพันธ์” ด้วยการออกอากาศภาพปราศรัย ตัดริบบิ้น กดปุ่ม หรือ ถ่ายรูปหมู่แต่เพียงอย่งเดียว ซึ่งอาจจะเป็นเพียง กระพี้ หรือเป็นเพียง เปลือกนอก” แต่อยากขอให้นำเสนอ สาระ แก่นสารของงานดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่จะเป็น “สาธารณะประโยชน์” อย่างแท้จริง เช่น หลักการและเหตุผล, แนวคิด และวิธีการในการปฏิบัติเหล่านั้นนะครับ ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น “การเข้าแถว” ที่คนส่วนใหญ่ มักจะพูดถึงความสำคัญ จำเป็น ในแง่ของความเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือความมีวินัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว “การเข้าแถว” สอนอะไรอีกหลายอย่าง เช่น การรู้จักรอคอย ไม่ใจร้อน ไม่แก่งแย่ง หรือหาทางเอาเปรียบผู้อื่น หรือถืออภิสิทธิ์ ทุกคนเท่าเทียมกัน การไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ซึ่งเป็นการรักษาสิทธิส่วนบุคคลด้วย การเคารพกติกาสังคม ที่จะนำไปสู่การเคร่งครัดปฏิบัติตนในกรอบของกฎหมาย รวมทั้งไม่ยอมให้ใครละเมิดกฎหมายด้วยถือว่า “ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย” เป็นต้น ที่กล่าวมานั้น ผมอยากจะสรุปว่า “การเข้าแถว” เป็นพื้นฐานหนึ่ง ที่สำคัญมากนะครับ ของ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งหากเราต้องการให้ “ดอกไม้แห่งประชาธิปไตย” ของเราเบ่งบาน งดงาม ในอนาคต เราต้องปลูกฝัง จิตสำนึกเหล่านี้ ด้วยการให้เหตุและผล อย่างลึกซึ้งแก่ลูกหลานไทย ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน แล้วเยาวชนของชาติ ทุกคน ก็จะเป็นผู้ที่มีเหตุผล และพร้อมที่จะรับฟังความเห็นต่าง หรือเหตุผลของผู้อื่น อันเป็นวิถีทางของประชาธิปไตย โดยเนื้อแท้ นะครับ พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, การวางแผนเพื่ออนาคตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับ “เยาวชนของชาติ” ที่เปรียบเสมือนกับ “การปลูกต้นไม้” หากเราต้องการ “ต้นไม้ประชาธิปไตย” ก็ต้องเพาะเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยในจิตใจของลูกหลานของเรา อย่างเป็นระบบเสียตั้งแต่ในปัจจุบันนะครับ วันนี้ รัฐบาลก็ได้ผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้มี “สภาเด็กและเยาวชน” ในทุกระดับตั้งแต่ระดับตำบล, เทศบาล, อำเภอ, จังหวัด ถึงระดับชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางและเสนอแนะในการพัฒนาประเทศ โดยการปลูกฝัง “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” ผ่านกิจกรรมกลุ่มเชิงสร้างสรรค์ และกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เช่น การทำงานเป็นทีม, การมีภาวะผู้นำ, การคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์, งานจิตอาสา รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ อย่าลืม ก็ต้องส่งเสริมการเคารพกฎหมายด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเล็ก กฎหมายน้อย หรือกฎหมายใหญ่ใดๆ ก็ตาม นะครับ อย่าไปดูเฉพาะรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ จะทำให้สังคมเกิดความสับสน อลหม่าน ในโอกาสนี้ ผมขอเชิญชวนให้เด็กและเยาวชนไทย ไปประชุมร่วมกัน ณ เทศบาลตำบล, อำเภอ และจังหวัด ที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อคัดเลือก “คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชน” ประจำท้องถิ่นของท่าน รายละเอียดตามวัน เวลา และสถานที่ ตามหน้าจอนะครับ ทั้งนี้ ผมคาดหวังว่าสภาเด็กและเยาวชนนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการวางโครงสร้างทางสังคมใหม่ ที่มั่นคงกว่าเดิม โดยจะเป็นกลไกหนึ่ง ที่มีความเชื่อมโยง และเป็นประโยชน์กับการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน ด้วยนะครับ จบ Part 1/1 เวลา 07:15 นาที เริ่ม Part 1/2 เวลา 07:15 นาที อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังคุกคามลูก หลานของเราในทุกวันนี้ ได้แก่ “สื่อออนไลน์” ที่มีทั้งดี และไม่ดีนะครับ ยากแก่การควบคุม เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศใช้เวลาเพียง “เศษหนึ่งส่วนล้านวินาที” ในการพัฒนาและเปลี่ยน แปลงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่กระบวน การออกกฎหมายใช้เวลา “แรมปี” แต่รัฐบาลนี้ ก็ได้ใช้ความพยายาม อย่างยิ่งยวด อย่างน้อยก็คือ 2 ประการหลักๆ ในการรับมือกับ “ภัยคุกคามยุคดิจิทัล” ดังกล่าวโดย... 1. ผลักดันพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 เพื่อใช้เป็นกลไกสำคัญ ในการส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาการ, ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและการใช้สื่อในทางที่เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ ตลอดจน การสร้างภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวัง “ทุกพื้นที่” และศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ครอบคลุมทุกจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อจะสร้าง “สร้างภูมิคุ้มกัน” ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน ในการรับสารจากสื่อฯ และใช้สื่อโซเชียลอย่างรู้เท่าทัน และมีวิจารณญาณ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อ “ในทุกมิติ” ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ “ขยายสื่อดี มีความเท่าทัน บูรณาการกลไก และใช้กฎหมายเป็น” และ 2. รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ที่มีกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมงานกับคณะกรรมการคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ พร้อมทั้ง หน่วยงานภาครัฐ, เอกชน, สื่อมวลชน, ภาคีเครือข่ายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วมด้วยกว่า 50 องค์กร ในการสนับสนุนให้เกิด “สื่อดี มีคุณค่า” ที่คนทุกหน่วยของสังคมจะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ “สังคมแห่งการเรียนรู้” สร้างสรรค์ ให้เยาวชน และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ประเทศชาติมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในยุค “ประเทศไทย 4.0” นะครับ พี่น้องประชาชนครับ, การบริหารประเทศในยุคดิจิทัลนี้ รัฐบาลและ คสช. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีแผนงาน โครงการทั้งที่รัฐบาลนำร่องให้และสนับสนุนเอกชนให้ดำเนินการ ซึ่งล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการของ “ระบบตั๋วร่วม” e-Ticket นั่นนะครับหรือ “บัตรแมงมุม” ซึ่งในอนาคต รัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาให้สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร แอร์พอร์ตเรียลลิงค์ รวมถึงการใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการทั่วไป ซึ่งระบบตั๋วร่วมนี้ ในเบื้องต้นจะเริ่มใช้ได้สำหรับการเดินทางด้วยรถเมล์ ขสมก. 800 คันแรก ที่ได้รับการติดตั้งเครื่องอ่านตั๋วร่วมภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และจะติดตั้งอีก 2,600 คันภายในต้นปี 61 นะครับ จากนั้นจะใช้กับรถไฟฟ้า 4 สาย ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ Airport Rail Link , รถไฟฟ้าสายสีม่วง, สีเขียว และสีน้ำเงิน ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้บริการด้วยบัตรร่วมนี้ ในเดือนกรกฎาคม ของปีหน้า และในระยะต่อไปจะสามารถใช้บริการได้ครอบคลุม “ทุกระบบขนส่ง” ได้แก่ รถไฟฟ้าสายใหม่ๆ, ระบบทางพิเศษ ทางหลวงพิเศษ และเรือโดยสาร เป็นต้น โดยภายหลังสามารถใช้งานระบบตั๋วร่วมในระบบขนส่งแล้ว พี่น้องประชาชนยังจะสามารถใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งจะให้เริ่มใช้กับร้านค้าของกระทรวงพาณิชย์เป็นการนำร่องไปก่อนนะครับ นอกจากนั้น ระบบตั๋วร่วมถูกออกแบบเพื่ออนาคต ให้สามารถรองรับระบบการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล ภายใต้โครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ที่เรียกว่า อี เพย์เม้น น่ะนะครับ ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ในการใช้บริการระบบขนส่ง เช่น รถโดยสารประจำทาง โดยกระทรวงการคลังได้กำหนดแผนบูรณาการระบบตั๋วร่วมเข้ากับ “ระบบจ่ายเงินเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” ปี 2560 สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยให้เริ่มใช้งานระบบตั๋วร่วมได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไปครับ นี่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน และจัดระบบการให้บริการของภาครัฐ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ก็คือรัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้กับผู้มีรายได้น้อยได้บ้าง โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าว เรียกว่าเป็น “ประชารัฐสวัสดิการ” ที่เป็นการให้วงเงินในบัตรฯ ตามรายละเอียดบนหน้าจอนะครับ โดยพี่น้องประชาชน สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ณ หน่วยงาน หรือร้านค้าที่กำหนด โดยยอดเงินก็จะถูกตัดลดลง ตามการใช้จ่าย และจะเติมเงินให้เต็มจำนวนตาม เดิมในวันที่ 1 ของทุกเดือน คล้ายๆ การเติมเงินในบัตรโทรศัพท์ที่เราคุ้นเคย แต่วงเงินคงเหลือจะไม่มีการสะสมไว้นะครับ ใช้ในเดือนถัดมาและไม่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้อีกด้วยนะครับ ก็ขอให้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด จากสวัสดิการที่รัฐบาลพยายามจะเข้ามาช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระของพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทั้ง 11 กว่าล้านคนนะครับ ก็ไม่อยากให้ใช้ในการซื้อหาสิ่งของที่ไม่จำเป็น หรือทำลายสุขภาพ เพราะความรักและหวังดีของผม และรัฐบาลที่มีต่อท่านนั้น “ไม่พอ”แต่ท่านต้องรักตัวเอง รักสุขภาพ รักครอบครัวของท่านด้วยนะครับ พี่น้องประชาชนที่รัก ทุกท่านครับ, นอกเหนือไปจากการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้การบริการประชาชนของภาครัฐมีประสิทธิภาพขึ้นตามข้างต้นแล้ว อีกด้านหนึ่งในการตอบโจทย์ของการเข้าสู่ยุค 4.0 และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ก็คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศ “แบบดิจิทัล” ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน, เพิ่มประสิทธิภาพของระบบ รวมทั้งลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจและประชาชนรายย่อย ที่นำไปสู่การยกระดับความ สามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือที่เราเรียกกันว่า “Ease of doing business” อีกทั้ง ยังเป็นระบบสากล ที่พร้อมรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้ดีขึ้น อีกด้วยนะครับ ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ดำเนินการในหลายมิติพร้อมๆ กัน ทั้งการสนับสนุนการใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ของพี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ไม่ต้องถือเงินสด ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทอน หรือเงินหล่นหาย ในขณะเดียวกัน ก็ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบในภาพรวม โดยมีการวางมาตรฐานความปลอดภัย ให้ทั่วถึง และเป็นธรรมด้วย ซึ่งหากพี่น้องประชาชน และภาคธุรกิจ หันมาใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ใช้บัตรเดบิต หรือชำระค่าสินค้าและบริการผ่านทางโทรศัพท์มากขึ้น ร้านค้าต่างๆ ก็จะปรับตัว ให้รองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ หรือใช้บัตรมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดความคล่องตัว ในการซื้อขายสินค้าบริการ หรือโอนเงินแล้ว ยังจะช่วยลดการใช้เงินสดในระบบ ที่เป็นต้นทุนลงได้ด้วยนะครับ จบ Part 1/2 เวลา 14:36 นาที ภาษาไทย เริ่ม Part 2/1 เวลา 14:36 นาที คำถามคือ ทำไมเราถึงควรใช้ “เงินสด” ให้น้อยลง มันมีข้อดีอย่างไร แล้วcashless society หรือ “สังคมไร้เงินสด” คืออะไร เราจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่สิ่งนั้น หรือไม่ ประการแรกก็คือ พี่น้องประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น เพราะไม่ต้องพกเงินสดไปไหนมาไหน โดยเฉพาะถ้าต้องไปซื้อสินค้าราคาสูงๆ ก็ไม่ต้องขนเงินไปมากมาย ไม่ต้องกลัวถูกฉกชิงวิ่งราว หรือการซื้อของทั่วไป ก็ไม่ต้องกังวลไม่ต้องไปกด ATM หรือผู้ขายก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการทอนเงิน และการทำธุรกรรม หรือการซื้อขาย ก็คล่องตัวขึ้น ใช้เวลาน้อยลง อีกประการหนึ่ง เราต้องมองในภาพรวม “มหภาค” ในการบริหารจัดการเงินสดที่มีต้นทุนสูงมาก ซึ่งในแต่ละปี มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ตั้งแต่การผลิต, การนับคัดธนบัตร หรือหมุนเวียนธนบัตรเก่าออกจากระบบ และใส่ธนบัตรใหม่ในระบบ เพื่อให้พ่อแม่พี่น้องทุกท่านมีธนบัตรที่มีคุณภาพใหม่ ไว้ใช้งานอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการขนส่งที่ต้องมีการดูแลรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด นอกจากนี้ การที่ต้องมีเงินสดค้างไว้ในตู้ATM ครั้งละมากๆ ก็จะถือเป็นต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่ได้มีดอกเบี้ย กองไว้เฉยๆ และยังต้องดูแลความปลอดภัยอีกด้วยนะครับ ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้การชำระเงินของประเทศ มีความเชื่อมโยง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำแผน National e-Payment ของประเทศขึ้น โดยได้รับความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่สะดวก ประหยัด ปลอดภัย และเป็นธรรม มีการดำเนินงานแบ่งเป็นโครงการต่างๆ ได้แก่... 1. “โครงการพร้อมเพย์” เปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการส่งเสริมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ “ไม่ใช้การ์ด” เพราะเป็นการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรือระบบอินเตอร์เน็ต สนับสนุนให้การโอนเงินระหว่างพี่น้องประชาชน หรือการโอนชำระค่าสินค้าและบริการให้กับร้านค้า ทำได้สะดวกและมีต้นทุนค่าธรรมเนียมการโอนที่ถูกลงมาก เช่น ถ้าโอนไม่เกิน 5,000 บาท ก็จะไม่มีค่าธรรมเนียมเลยนะครับ โดยพี่น้องประชาชน หรือร้านค้ารายย่อย สามารถผูกหมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขประจำตัวประชาชน ผู้ประกอบการก็สามารถผูกหมายเลขทะเบียนนิติบุคคลไว้กับบัญชีเงินฝาก ซึ่งจะสะดวกกับผู้ที่จะโอนเงินให้เรา ไม่ว่าจะโอนจากธนาคารใด หากโอนเข้าในบัญชีที่ผูกพันกับระบบพร้อมเพย์ไว้ ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงมาก ดังนั้น จริงๆ คนที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์ คงเรียกได้ว่า “พร้อมรับ” การโอนเงินนั่นเอง ที่ผ่านมา ประชาชนและธุรกิจต่างๆ ให้ความสนใจลงทะเบียนพร้อมเพย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติล่าสุดมีจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้วถึง 32 ล้านเลขหมาย และมีการโอนเงินสะสมกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว หากท่านสนใจ สามารถติดต่อสอบถามที่ธนาคารพาณิชย์สาขาต่างๆ ได้โดยตรง หรือสอบถามข้อมูลที่ศูนย์บริการให้ความรู้ทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยที่หมายเลข 1213 ได้นะครับ ท่านที่ยังลังเลเพราะกังวลว่าการสมัครพร้อมเพย์ อาจทำให้รัฐบาลมาตรวจสอบการโอนเงิน หรือการชำระภาษี มันคงเป็นคนละเรื่องกันนะครับ เพราะหากภาครัฐต้องการจะตรวจสอบในเรื่องเหล่านี้ ก็สามารถทำได้อยู่แล้วในระบบการโอนเงินแบบเดิมครับ และ 2. การใช้เครดิตการ์ด หรือเดบิตการ์ด ซึ่งภายใต้โครงการ National e-Payment นี้ รัฐบาลก็ได้ดำเนินการขยายการรับบัตรเครดิต และบัตรเดบิตออกไปในวงกว้างขึ้น โดยมีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรให้กับร้านค้าและสถานที่ราชการ เพื่อให้บริการกับพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ยังผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนให้บัตร ATM และบัตรเดบิต มาเป็น “แบบ chip card”ทั้งหมดภายในปี 2562 เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของการใช้บัตรด้วย เป็นทางเลือกใช้บริการ ที่กว้างขวางมากขึ้น ตามความสะดวก ตรงกับความต้องการ อีกทั้งการติดตั้งเครื่องรูดบัตรให้ขยายออกไปทั่วทุกพื้นที่ ของประเทศนี้ จะสอดรับกับนโยบายการใช้ “บัตรสวัสดิการของภาครัฐ” เพื่อให้กลุ่มประชาชนฐานรากสามารถนำมาใช้ซื้อสินค้า . และบริการตามที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ด้วย โดยในระยะต่อไป ก็สามารถเชื่อมต่อกับ “ระบบตั๋วร่วม” ได้ ชีวิตประจำวันของท่านก็จะสะดวกสบายมากขึ้นอีกด้วยนะครับ จบ Part 2/1 เวลา 18:57 นาที ภาษาไทย เริ่ม Part 2/2 เวลา 14:36 นาที ระยะแรก หากมีปัญหาอยู่บ้างก็คงจะต้องแก้ปัญหากันด้วยนะครับ เราไม่เคยทำลักษณะอย่างนี้นะครับ เป็นการพัฒนาเอาเทคโนโลยีมาใช้ มีการใช้ระบบดิจิตอลเข้ามานะครับ ซึ่งอันนี้เป็นการเดินหน้าประเทศไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 นะครับ ต้องช่วยกัน อย่าเพิ่งติติงอะไรกันมากนักนะครับ เพราะเราไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรมานานแล้ว การเปลี่ยนแปลง แน่นอน มันอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง หรือไม่มีเลยก็ได้ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน ครับ เรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นธนาคารแห่งประเทศไทยได้แถลงความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรต่างๆ พร้อมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินในไทย ในการใช้มาตรฐาน QR code ที่เป็นมาตรฐานกลางสำหรับการชำระเงิน ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่ 5 บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรระดับโลก ได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นการยกระดับการให้บริการและสะท้อนความเป็นสากลของระบบนี้ ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาระบบแล้ว ผู้ให้บริการชำระเงินต่างๆ ในประเทศไทย ก็สามารถใช้งานร่วมกันได้ โดยไม่ต้องคิดรูปแบบ QR Code ของตัวเอง ที่แตกต่างกันออกไป ที่สร้างความสับสนให้กับลูกค้า และร้านค้าก็สามารถใช้ QR Code ตามมาตรฐานนี้ในการรับชำระเงินได้ทั่วไป ทั้งจากผู้ให้บริการชำระเงินในประเทศและรองรับรายการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย ที่ผ่านมา เราอาจเคยเห็นนักท่องเที่ยวจีนที่นำเอา QR code จากประเทศจีนเข้ามาใช้ชำระเงินในไทย ซึ่งแต่ละบริษัทผู้ให้บริการชำระเงินจากจีน จะมี QR code ของตนเอง แต่สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ของไทย จะใช้ QR code ร่วมกันได้ “ทั้งหมด” ซึ่งหมายถึงจะสามารถรองรับทุกช่องทางการชำระเงินด้วย ทั้งการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต, บัตรเดบิต, บัญชี e-Wallet หรือบัญชีเงินฝากธนาคาร นะครับ ดังนั้น QR code จึงถือเป็นเครื่องมือในการชำระเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย - ผู้โอนและผู้รับโอน โดยลูกค้าสามารถใช้ mobile application ของธนาคารพาณิชย์ผู้ให้ทางการเงินอื่นๆ หรือผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรบนโทรศัพท์มือถือ ในการอ่าน QR Code ของร้านค้าเพื่อซื้อของหรือชำระเงินได้อย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว ทั้งนี้การโอนจะต้องมีการใส่ “รหัสผ่าน” ก่อนเข้าใช้ application และจะมีการส่งข้อความให้ท่านสามารถตรวจสอบจำนวนเงินและชื่อผู้รับก่อนด้วยนะครับ ร้านค้าก็จะมีต้นทุนการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่ำลงมาก โดยเฉพาะร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก จะสามารถพิมพ์ QR Code ติดไว้หน้าร้าน หรือหน้าแผง เพื่อให้ลูกค้าสแกนได้ทันที และสามารถรองรับการชำระเงินผ่านช่องทางที่หลากหลายได้ นอกจากนี้ การสแกน QR Code ผ่าน mobile application ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกค้า เพราะไม่ต้องให้บัตรหรือข้อมูลบนบัตรแก่ร้านค้า ไม่ต้องกังวลเรื่องการเอาข้อมูลไปปลอมบัตรอีกต่อไป ที่สำคัญ ระบบนี้พัฒนาอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของธนาคารและผู้ให้บริการในปัจจุบัน เช่น การโอนเงินพร้อมเพย์ หรือการให้บริการบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล โดยมีการตรวจสอบเป็นประจำอยู่แล้ว และปัจจุบัน ก็ยังอยู่ระหว่างการทดลองใช้ เพื่อทดสอบให้มั่นใจในความถูกต้องของการทำรายการ และการดูแลผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถทยอยให้บริการกับพี่น้องประชาชนทั่วไปได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป นะครับ นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจยิ่งขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสวงหาความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการยกระดับความปลอดภัยบริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย/ ที่สำคัญ บริการชำระเงินด้วย QR Code จะเข้าถึงร้านค้าในชีวิตประจำวันของประชาชนได้จริง ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือร้านใหญ่ ร้านค้าทั่วไปและร้านค้า online รวมถึง รถโดยสารสาธารณะและบริการอื่นๆ ซึ่งการใช้ QR code นี้ สามารถขยายตัวไปอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยว หรือเขตต่างจังหวัด ใช้ได้กับธุรกิจหลายประเภท “ไม่มีข้อจำกัด” ซึ่งก็ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ สร้างประสิทธิภาพ สร้างโอกาส ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ห่างไกล สามารถทยอยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ได้นะครับ ผมขอสนับสนุนให้ท่านที่สนใจติดตามข่าวคราวและทดลองใช้ หากไม่มั่นใจ ก็ขอให้สอบถามที่สายด่วน 1213 ได้ครับ แล้วค่อยช่วยกันปรับตัวกันต่อไป ไม่ต่างอะไรกับบัตร ATM – คอมพิวเตอร์ – หรือโทรศัพท์มือถือ ที่เข้ามาในชีวิตเรา เมื่อ 10 – 20 ปีที่แล้ว แรกๆ ก็งงๆ เดี๋ยวนี้ก็ใช้กันเก่ง ใช้กันคล่องทุกคน อย่างที่ผมเคยเรียนว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เราต้องรู้เท่าทัน - ปรับตัว - นำมาใช้ประโยชน์ให้ได้ เพราะเราเลี่ยงไม่ได้ เราก็ควรจะอยู่กับการเปลี่ยนแปลง ให้มีความสุขให้ได้ เพื่อทุกคนจะได้ก้าวไปข้างหน้าได้พร้อมๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นะครับ สุดท้ายนี้จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ผ่าน “4 คำถาม” เมื่อเกือบ 50 วันที่ผ่านมา วันนี้ก็ยังเปิดรับฟังอยู่นะครับ ผมเคยเรียนไปแล้วว่า เรายังเปิดรับฟังตลอดไป หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเอ๊ะปิดไปแล้วหรือยัง ยังไม่ปิด นะครับ ยังไม่มีกำหนด เพราะฉะนั้นก็อยากจะฟังเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งวันนี้ผมได้รับรายงานและผลการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ในครั้งที่ 5 นี้ มียอดผู้ร่วมแสดงความเห็นสะสม รวมเกือบ 8 แสนคน ก็ขอบคุณในความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งข้อมูลที่ได้นับว่ามีคุณค่าต่อการบริหารประเทศ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่า พี่น้องประชาชนมีความตระหนัก และเริ่มเรียนรู้ถึงบทเรียนและประสบการณ์ ที่ไม่ราบรื่นในอดีตมากขึ้น โดยไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ที่สำคัญ คือ ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาการได้มาซึ่งรัฐบาลที่บกพร่องเรื่องธรรมาภิบาล และป้องกันนักการเมืองไม่ดี ที่ทุจริต หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ให้เข้ามาสู่ “วงจรการเลือกตั้ง” อีกต่อไป ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด เป็นต้น ทั้งนี้ ผมให้เชื่อมั่นและไว้ใจ ว่ารัฐบาลนี้และ คสช. จะนำผลการวิเคราะห์ดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ ให้เป็นไปตามที่พี่น้องประชาชนต้องการ และเพื่อการพัฒนาประเทศของเรา อย่างยั่งยืนต่อไป นะครับ หลายท่านมีการศึกษาชั้นประถมมากขึ้น แสดงว่าทุกคนเริ่มเข้าใจ เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมแล้วนะครับ ก็อยากให้ทุกระดับการศึกษา ทุกช่วงวัยต่างๆ ทั้งหญิงทั้งชายนะครับ เข้ามาแสดงความคิดเห็นให้มากยิ่งขึ้นนะครับ มีทั้งสามารถที่จะตอบคำถามแบบปลายเปิดมาก็ได้ ผมจะได้รับฟัง นำมาพิจารณาในการดำเนินการนะครับ สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายและมาตรการของรัฐ ผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นี้ ก็เป็นอีกแหล่งข้อมูล ที่สะท้อนให้รัฐบาลและ คสช. ได้เห็นว่าประเด็นที่พี่น้องประชาชน ได้เฝ้าติดตามชมและรับฟังรายการฯ นี้ เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงกับ “ปัญหาปากท้อง” และการอยู่ร่วมกันในสังคม อาทิ... 1. การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม– ฝนแล้ง 2. ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม 3. การพัฒนาศักยภาพคนให้มีทักษะความรู้ มีคุณธรรม มีจิตสาธารณะ ส่งเสริมการเล่นกีฬา การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง 4. การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 5. การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน การวางแผน การใช้ การผลิต และการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนอย่างเป้นระบบ 6. การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ให้อำนวยความสะดวก ไม่เป็นอุปสรรค และลดภาระของภาคธุรกิจและภาคประชาชน 7. การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติป่าและน้ำ รวมทั้งการจัดสรร - ใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม 8. การยกระดับการให้บริการภาครัฐ และดูแลงบประมาณ สำหรับระบบรัฐสวัสดิการ 9. การลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามนอกประเทศในทุกมิติ เช่น ก่อการร้าย ยาเสพติด ไซเบอร์ โรคระบาด 10. การเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ และ 11. การปฏิรูปการศึกษาในทุกมิติเป็นต้น ทั้งนี้ ความตั้งใจของผม ไม่ใช่ “การประชาสัมพันธ์” งานของรัฐบาลนะครับ ผมต้องการสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้” สังคมแห่งความร่วมมือ ต้องการให้พวกเราทุกคนตระหนัก และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยผมก็จะได้นำข้อมูลที่จะเป็น “สาธารณะประโยชน์” ทั้งปวง มาพูดคุยกับพี่น้องประชาชน เพื่อแสวงหาความร่วมมือ ในการ “เดินหน้าประเทศ” ของเรา ไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ให้ได้ นะครับ ในช่วงนี้มีหลายอย่างที่เป็นประเด็น เป็นความละเอียดอ่อนนะครับ ซึ่งจะมีผลในเรื่องของการทำงาน ขอให้ทุกคนได้หนักแน่น นะครับ แล้วก็พยายามที่จะหาวิธีการบำบัดที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย เรื่องของกระบวนการยุติธรรมต่างๆ เราต้องหาข้อสรุปให้ได้นะครับ เพราะว่าหากว่านำทุกประเด็นเหล่านั้นมาสร้างความขัดแย้งกันอีกต่อไป มันก็ย่อมจะปรองดองอะไรไม่ได้ แล้วอาจจะมีผลเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปในเรื่องเศรษฐกิจด้วยนะครับ เพราะวันนี้พี่น้องทั้งหลายก็ยังคงมีหนี้สินจำนวนมาก การลงทุนต่างๆ ก็ยังไม่ได้ผลมากนักเพราะเป็นการลงทุนในระยะแรก ต้องมีการก่อสร้าง ต้องมีการผลิตอะไรเยอะแยะนะครับ มันถึงจะมีรายได้กลับเข้ามาสู่พี่น้องทั้งหมดนะครับ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเปลี่ยนแปลง ช่วงระยะเวลาที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่นี้ ช่วงเปลี่ยนผ่านเหล่านี้หลายคนก็อาจจะยังลำบากอยู่ ผมเข้าใจ เห็นใจ ก็จะทำให้ได้มากที่สุดนะครับ ทั้งนี้ก็ด้วยจิตใจ หรือเจตนารมณ์ที่ตั้งมั่นของพวกเราทุกคนนะครับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คสช. ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึ่งก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่ ก็ขอให้พวกเราทุกคนได้แยกแยะกันให้ออกนะครับ ว่าอะไรที่มันจะสร้างความขัดแย้ง อะไรที่มันจะสร้างปัญหา แล้วก็มีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ นะครับ หากว่าเอาชนะคะคานกันต่อไป มันก็ไม่จบซักเรื่องนะครับ ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ