“ ผมว่าเราไม่มีจุดอ่อนด้านยุทธศาสตร์การเมือง จริงๆแล้วยุทธศาสตร์ด้านการเมืองของเรานั้นมีมากไปด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่เข้ามาในช่วงเลือกตั้งหรือทหารที่เข้ามาในช่วงรัฐประหาร ต่างคนต่างก็มียุทธศาสตร์ทางการเมืองด้วยกันทั้งนั้น แต่ในเรื่องยุทธศาสตร์ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินต่างหากซึ่งเป็นเรื่องที่เรายังขาด” “เจษฎ์ โทณะวณิก” มอง “การเมือง” บนทิศทาง “ยุทธศาสตร์ชาติ” เรื่อง : กิตติกร แสงทอง หมายเหตุ : อีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือคสช. ได้ผลักดันและดำเนินการเพื่อให้ออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นตัววางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ คือการมีพ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560” ทั้งนี้ตามมาตรา5 ในกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้ ห้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมาได้ให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ทั้งสิ้นจำนวน 12ราย และจะมีการแต่งตั้งเพิ่มในภายหลัง โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อกำหนดวางยุทธศาสตร์ของประเทศ20ปี “สยามรัฐ” มีบทสัมภาษณ์พิเศษ “ เจษฎ์ โทณะวณิก” นักวิชาการด้านกฎหมายและในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสะท้อนมุมมองด้านการเมือง -ความมั่นคง จะมีส่วนต่อการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ ได้อย่างไร @ เวลานี้มองว่าคนในสังคมได้เห็นความจำเป็นของการมียุทธศาสตร์ชาติแล้วหรือไม่ ผมคิดว่าคนไทยมีความตระหนักมาค่อนข้างนานแล้วว่าเราควรจะมีสิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติหรือ “วาระแห่งชาติ” ที่มันจะต้องถูกนำมาพิจารณาและดำเนินการ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล เรื่องยุทธศาสตร์ชาตินั้นไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่ต้องประกอบไปด้วยวุฒิสภา ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อร่วมกันดำเนินการ องคาพยพต่างๆของบ้านเมืองก็ต้องเข้ามาร่วมกันผลักดันช่วยเช่นกัน เพื่อให้มันบรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ ที่ผ่านมาทุกคนบ่นหมดเลย พอรัฐบาล ก. เข้ามาก็บอกว่าจะทำเรื่องนี้ พอเข้ามาเป็นรัฐบาล ข.ก็เปลี่ยน ครั้งหนึ่ง พอมาเป็นรัฐบาล ค.ก็เปลี่ยนอีกทีหนึ่ง ดังนั้นผมคิดว่าคนไทยรู้อยู่แล้วว่าจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้น @ ที่ผ่านมาเราเคยกำหนดไว้ว่าในอนาคตเราจะเป็นแบบนั้น แบบนี้ แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงที่กำหนดไว้ ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรลุยุทธศาสตร์ชาติได้ก็คือเราต้องตั้งใจว่าอย่าให้ยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นแค่ความฝัน มีบุคคลระดับสูงในคณะรัฐมนตรีเขาเคยพูดว่าถ้าอยู่ในคณะปฎิรูปนั้นต้องทำงานจริง แต่ถ้าจะฝันก็ให้ไปอยู่ในยุทธศาสตร์ ผมคิดว่าถ้าคิดกันแบบนี้คงจะเป็นปัญหาแล้ว ยุทธศาสตร์ไม่ใช่ความฝัน เพราะว่าถ้าท่านมองว่ายุทธศาสตร์คือความฝัน มันไม่ใช่ฝันเลื่อนลอย ท่านต้องฝันให้ไกลแล้วก็ไปให้ถึง แต่ผมว่าอย่าไปใช้คำว่าความฝันเลย มันต้องเป็นสิ่งที่เราได้ประมวลขึ้นมาแล้วว่าจะทำให้ได้จริง การวางยุทธศาสตร์ชาตินั้น เราต้องไม่ไปวางกลไก โดยเฉพาะระบบในการที่จะดำเนินงานให้เกิดผลตามยุทธศาสตร์ชาติแบบตึงตัวเกินไป เพราะพอถึงเวลาองคาพยพที่เข้ามาทำงานจริงๆแล้วเขาจะทำงานไม่ได้ ส่วนในแง่ของการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนนั้น ก็ไม่ใช่ว่าแค่คนที่เขียนยุทธศาสตร์ชาติไปเล่าให้ชาวบ้านฟังแค่ 5 ชั่วโมงว่าจะทำอะไรแล้วชาวบ้านก็มีเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงในการให้ความเห็น แบบนี้ไม่ใช่ ความเป็นจริงแล้วชาวบ้านเขาควรจะมีเวลาแสดงความเห็นสัก 5 ชั่วโมง แล้วคนที่อธิบายควรจะพูดสักครึ่งชั่วโมงพูดถึงแผนที่จะเดินไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างไร และสำคัญที่สุดก็คือความยืดหยุ่นในการวางยุทธศาสตร์ชาติ แม้ว่าจะบอกว่า 20 ปี แต่ความจริงอาจจะเกินไปหรือหย่อนลงมาหน่อยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปถึง 20 ปี เพราะว่าจำนวนปีนั้นไม่สำคัญเท่ากับผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม @ ประเทศไทยติดอยู่ในวังวนของการรัฐประหารมาโดยตลอด คิดว่าเรามีจุดอ่อนด้านยุทธศาสตร์การเมืองตรงไหน ผมว่าเราไม่มีจุดอ่อนด้านยุทธศาสตร์การเมือง จริงๆแล้วยุทธศาสตร์ด้านการเมืองของเรานั้นมีมากไปด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่เข้ามาในช่วงเลือกตั้งหรือทหารที่เข้ามาในช่วงรัฐประหาร ต่างคนต่างก็มียุทธศาสตร์ทางการเมืองด้วยกันทั้งนั้น แต่ในเรื่องยุทธศาสตร์ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินต่างหากซึ่งเป็นเรื่องที่เรายังขาด ยุทธศาสตร์การเมืองกับการบริหารราชการแผ่นดินนั้นมีความแตกต่างกัน ยุทธศาสตร์การเมืองก็คือ การเจรจากับคนนู้นอย่างไร การจะตกลงกับคนนี้อย่างไร การแบ่งเค้กกันอย่างไร จะตั้งใครมาทำอะไร แต่ยุทธศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดินก็คือว่าในการแต่งตั้งข้าราชการที่เหมาะสมมาทำงานในกระทรวง ทบวง กรม เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เขาทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สอดคล้องกับการก้าวไปของนานาอารยประเทศและเกิดผลลัพธ์ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานนั้นๆ แบบบูรณาการโดยไม่กระจัดกระจายกัน ผมว่าถ้ามีกติกาแบบนี้ บริหารแบบนี้ ใครจะเข้ามาก็แล้วแต่ ก็จะบริหารบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าเข้ามาถึงปุ๊บ ก็มานั่งคิดว่าใครจะมานั่งดำรงตำแหน่งไหน ถ้าเป็นทหารเข้ามาก็เอาพี่ เอาน้องคนนั้น พี่คนนี้ไปนั่งตรงไหน ซึ่งนี่ก็คือยุทธศาสตร์การเมือง ที่ประเทศไทยมีมากเกินไป แต่ไม่ได้มียุทธศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดินเลย