เครือข่ายผู้ป่วยเตรียมบุกยื่นหนังสือ สตง.ขอความชัดเจน รพ.ราชวิถี จัดซื้อยารวมระดับประเทศได้ไม่ผิด กม. พร้อมเสนอต่อบอร์ด สปสช.สอบถามขอความชัดเจนจากกฤษฎีกา หลังมีข้อขัดแย้ง รพ.ราชวิถีทำหน้าที่แทน สปสช.ได้หรือไม่ ด้าน “ชมรมแพทย์ชนบท” เป็นห่วงการจัดซื้อและกระจายยากระทบผู้ป่วย พร้อมตั้งข้อสังเกต เงินสวัสดิการจากการจัดซื้อยา ต้นเหตุดึงการจัดซื้อพ้น สปสช. น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน และรองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความพร้อมของ รพ.ราชวิถี ในการทำหน้าที่หน่วยงานจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับประเทศ แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ในการแถลงเมื่อวานนี้ ยังมีประเด็นที่ยังไม่ได้ตอบคำถามของกังวลของภาคประชาชนว่า เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่เคยมีหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันความถูกต้องการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของ รพ.ราชวิถี ในการทำหน้าที่จัดซื้อยาแทน สปสช. เพราะที่ผ่านมามีเพียงแต่คำพูดของตัวแทน สตง.เพียงคนเดียวเท่านั้น จึงเป็นว่าเป็นการทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายซ้ำอีกได้ และจะผิดยิ่งกว่าที่ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้เครือข่ายผู้ป่วยและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะเข้ายื่นหนังสือต่อ สตง.เพื่อทวงถามความชัดเจนทางด้านกฎหมายในเรื่องนี้ต่อ สตง.รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้จะมีการเสนอไปยังบอร์ด สปสช.ให้สอบถามความเห็นในประเด็นข้อขัดแย้งทางกฎหมายว่า การบังคับให้ รพ.ราชวิถีขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการบัตรทอง ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 46 และ 48 เพื่อจัดซื้อยาแทน สปสช.ทำได้หรือไม่ รวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีการออกกฎกระทรวงรองรับ รพ.ราชวิถี ก่อนเพื่อทำหน้าที่นี้ “ขณะนี้ สธ.บอกแต่เพียงว่า การจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับประเทศ ยังคงดำเนินไปอย่างที่ สปสช.เคยดำเนินการ เพราะเป็นการใช้กระบวนการจัดซื้อเดียวกัน เพียงแต่นำเงินผ่าน รพ.เพื่อให้การจัดซื้อดำเนินไปได้เท่านั้น หากเป็นแบบนี้จริงก็เข้าข่ายลักษณะการฟอกเงินมาก ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ รวมถึงเป็นวิธีที่หน่วยงานราชการควรนำมาใช้” รองประธาน เอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าว ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เท่าที่ติดตามต้องบอกว่าค่อนข้างเป็นห่วง ทั้งในเรื่องการต่อรองราคาและการกระจายยาที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย เพราะเป็นระบบที่มีการจัดการซับซ้อน และกว่าที่ สปสช.จะเดินมาถึงจุดนี้ได้ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงระบบมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขณะนี้ยิ่งมีความเป็นห่วงเพิ่มขึ้นเพราะทราบมาว่า กรมควบคุมโรค (คร.) จะมีการดึงเรื่องการจัดซื้อวัคซีนไปดำเนินการเองอีก เพราะที่ผ่านมาเคยถูกพิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกวัคซีนมาแล้ว โดยทั้ง คร.และสถาบันวัคซีนแห่งชาติไม่เคยมีการชี้แจงการตั้งข้อสังเกตถึงผลประโยขน์ทับซ้อนในคณะกรรมการคัดเลือกวัคซีนนี้เลย อย่างไรก็ตามขณะนี้เริ่มมีคำถามทั้งค่าบริการจัดการจัดซื้อยาโดย รพ.ราชวิถี และค่าบริหารจัดซื้อวัคซีนโดย คร. รวมถึงเงินเปอร์เซ็นที่เป็นสวัสดิการจากการจัดซื้อ เพราะที่ผ่านมาการจัดซื้อของ สปสช.ที่ดำเนินการผ่าน อภ. จะเปิดให้หน่วยบริการสามารถทำโครงการเพื่อขอใช้งบประมาณนี้ได้ ซึ่งรู้ว่าต่อไปจะมีการกันเงินส่วนนี้ไปทำอะไร “การบริหารยาโดย สปสช. ที่อยู่ภายใต้บอร์ด สปสช. มีหลายภาคส่วนที่ร่วมดำเนินการ ทำให้ผลที่ออกมาจึงมีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้ ทั้งยังประหยัดงบประมาณประเทศปีละกว่า 5,000 ล้านบาท การที่มีการดึงหน้าที่จัดซื้อยาออกไปจาก สปสช. ผู้ใหญ่ที่คว่ำหวอดในระบบสาธารณสุขหลายท่านจึงมองขาดว่า เป็นการดำเนินการของกลุ่มอำนาจเดิมด้วยความโหยหาและเสียดาย อยากได้เงินก้อนนี้กลับคือน เพราะในอดีตเงินก้อนนี้คือเงินทอนดีๆ นี่เอง” ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว