รัฐบาลต้องเป็นรัฐที่เป็น modern state เป็นรัฐทำเรื่องการแข่งขัน ทำเรื่องศักยภาพ การส่งเสริมโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ส่วนงานประจำ งานดูแลประชาชน งานบริการ ก็ส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการ หลังจากมีการตรา พรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันให้การพัฒนาประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์ชาตินั้นต้องมีไม่น้อยกว่า 20ปี ทุกภาคส่วนจึงต้องจัดทำแผนการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตอนนี้ เรายังไม่เห็นว่าจะมีรายละเอียด อย่างไร มากน้อยแค่ไหน เพราะเพิ่งตั้งกรรมการขึ้นมา แต่คิดว่าอย่างน้อย เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ หลายเรื่อง เช่น เป้าหมายเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาศักยภาพคน การพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดิน เป้าหมายพวกนี้ล้วนเกี่ยวโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น ดังนั้นจึงคิดว่าในภาพใหญ่ของประเทศถ้าเราจะก้าวเพื่อที่จะแข่งขันกับนานาชาติและโลกได้ รัฐบาลต้อง เป็นรัฐที่เป็น modern state เป็นรัฐที่ทำเรื่องการแข่งขัน ทำเรื่องศักยภาพ ทำเรื่องการส่งเสริมโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ส่วนงานประจำงานดูแลประชาชนแบบดั้งเดิม การบริการ ก็ส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการ “คิดว่ายุทธศาสตร์ชาติน่าจะเน้นไปที่ เรื่องของ การจัดการเชิงพื้นที่ มากกว่า ตัวอย่างเช่น ระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก ก็จะเป็นการจัดการที่จะทำให้เกิดการโตในเชิงพื้นที่ ซึ่งจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจริญเติบโตอย่างมาก แต่จะต้องทำให้ในแต่ละพื้นที่โตในลักษณะที่แตกต่าง โตตามศักยภาพ ตามยุทธศาสตร์และจุดยืนของแต่ละพื้นที่เอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ท้องถิ่นก็จะสามารถทำได้” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ส่วนในเรื่องของงานบริการ เรื่องการดูแลประชาชนที่อยู่ในชีวิตประจำวัน อันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะช่วยได้เยอะ เพราะท้องถิ่นสามารถตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนได้ เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ รับรู้ปัญหาของประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งต่างจากราชการส่วนภูมิภาคที่อาจมีข้อมูลเหมือนกัน รู้ว่า พื้นที่มีคนจนเท่าไหร่ มีตัวเลขตรงกัน แต่ส่วนท้องถิ่นจะรู้ปัญหาลึกกว่านั้น จะรู้ว่าคนไหนจนแล้วน่าจะได้รับความช่วยเหลือ คนไหนที่จะสามารถให้กู้เงินได้ กู้แล้วจะไม่โกง คนไหนจนเพราะการพนัน คนไหนจนเพราะเกิดปัญหาป่วยเกิดวิกฤตในครอบครัวจนต้องขายที่ขายทางจนไม่มีที่ทำกิน เขาก็จะรู้ว่าคนคนไหนเหมาะสมที่จะช่วยเหลือสุด ความคิดตรงนี้มันเป็นชุดความคิดที่แตกต่างจากราชการ ตรงนี้จึงคิดว่าถ้าเอามาผสมกัน มันจะช่วยแก้ปัญหาได้เยอะโดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีบทบาทมาก “ในอนาคตคิดว่าท้องถิ่นคือองค์กรที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศให้กับรัฐบาลกลาง ถ้ารัฐบาลมององค์กรท้องถิ่น เป็น partner เป็นผู้ช่วยเหลือเกื้อกูล รัฐบาลกลางทำเรื่องยากเรื่องใหญ่ เรื่องที่ต้องลงทุน เรื่องยุทธศาสตร์ ส่วนงานประจำ งานบริการสาธารณะ งานสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมชุมชนข้างล่าง ลดความเหลื่อมล้ำ ก็ให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แบ่งงานกันทำ ถ้าเราทำเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดีมันจะลดความเสี่ยงให้กับรัฐบาลส่วนกลางได้ ตัวอย่างเช่น ในอดีตเคยมีเหตุการณ์ที่รัฐบาลบอกว่าจังหวัดไหนไม่มี ส.ส.ของรัฐบาลจังหวัดนั้นก็จะไม่ได้รับงบประมาณ ประโยคแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้ามันมีการ แบ่งงานกันทำ เพราะว่า อำนาจการแก้ปัญหามันอยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัดแล้ว ปัญหาเรื่องม็อบต่างๆที่วิ่งเข้ามาส่วนกลาก็จะหมดไป” รศ.วุฒิสาร บอกว่า ตัวอย่างการให้แต่ละพื้นที่เข้าไปจัดการตนเองถ้าจะดูตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในวันนี้ คือเรื่องสโมสรฟุตบอล ที่ในอดีตการแข่งขันรฟุตบอล สโมสรก็จะรวมตัวกันอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่เพราะประชาชนไม่มีอารมณ์ของการมีส่วนร่วม แต่ทุกวันนี้ฟุตบอลมันไปอยู่ทุกจังหวัด มันมีอารมณ์ร่วมของประชาชน รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของทีม รู้สึกว่านี่เป็นสโมสรของเรา ฟุตบอลปัจจุบันจึงมีการพัฒนาขึ้นมาก นี่คือความคิดที่เป็นตัวอย่างว่า ถ้าเราให้พื้นที่เข้าไปจัดการมันก็จะเกิดพลังอีกแบบ ถ้าเราคิดกันอย่างนี้ แล้วช่วยกันสนับสนุนแก้ปัญหา ทำกรอบกฎหมาย เอื้ออำนวยให้ท้องถิ่นสามารถทำงานได้มากขึ้น คิดว่า ท้องถิ่นจะเป็นกลไกอีกหนึ่งกลไกที่จะที่สามารถในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี เรื่อง : ปรีชา หยั่งทะเล