สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร ทรงให้ความสำคัญในการดำเนินงานของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยเฉพาะเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริที่สร้างประโยชน์สุขให้กับราษฎรเสมอมา และมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวทางการพัฒนาของโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำนครนายก รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้ง และการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบความร่วมมือของราษฏรในการสนับสนุนโครงการฯ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 จึงได้ทรงมอบหมายให้นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะฯ ติดตามการบริหารจัดการน้ำของโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนรับทราบความเป็นอยู่ของราษฎรเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ต่อไป โอกาสนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลฯ ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายกรับฟังการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชลฯ และเยี่ยมชมเขื่อน สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน โดยให้กรมชลประทานวางโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค และบรรเทาอุทกภัย รวมทั้งเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวให้กับพื้นที่จังหวัดนครนายก ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2544 ได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2549 ได้พระราชทานชื่อเขื่อนคลองท่าด่านว่า “เขื่อนขุนด่านปราการชล” หมายถึง เขื่อนขุนด่านซึ่งเป็นกำแพงน้ำ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 ได้พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า "...เป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับหลายจังหวัด รวมทั้งจังหวัดพระนคร ซึ่งต้องการโครงการชลประทานอย่างนี้ ที่โครงการชลประทานในภาคกลาง ใกล้กรุงเทพฯ ฝ่ายชลประทานน่าจะอธิบายกับประชาชนได้ว่า เป็นโครงการที่ทำยาก และเป็นโครงการที่สำเร็จขึ้นได้โดยนับว่าเร็ว จึงเป็นโครงการที่น่าสนใจ...ชาวบ้านเขายินดีมาก เขาสนับสนุนโครงการนี้อย่างยิ่ง ซึ่งตามปกติโครงการแบบนี้จะมีการคัดค้านมาก เพราะว่าจะต้องมีปัญหาเรื่องที่ดิน... แต่ที่นี่ไม่มีปัญหา เขาเห็นด้วย และเขาอยู่ในท้องที่นั้นเขาเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำโครงการ และโครงการมีประโยชน์จริง..." โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลฯ เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด (RCC DAM) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 93 เมตร ยาว 2,594 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2548 มีพื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 185,000 ไร่ และพื้นที่โครงการส่งน้ำบำรุงรักษานครนายก จำนวน 165,000 ไร่ ปัจจุบัน ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2560 เขื่อนขุนด่านปราการชล มีปริมาณน้ำ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55 โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลฯ สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูฝนรวม 185,000 ไร่ ฤดูแล้ง 62,000 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 96 หมู่บ้าน 9,104 ครัวเรือน ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในเขตเมืองนครนายก และเขตพื้นที่ส่งน้ำของโครงการฯ จำนวน 16 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี ส่งน้ำให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้สอย จำนวน 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรเพื่อชำระล้างดินเปรี้ยว ให้กับเกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ จำนวน 165,000 ไร่ ด้านการรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็ม ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคม มีแผนการระบายน้ำประมาณเดือนละ 3.0 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือการเกษตรในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำนครนายก และระบายน้ำประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและชะล้างดินเปรี้ยว ส่วนปริมาณน้ำอีกประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ใช้ในการรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็มที่รุกเข้ามาทางแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายกให้ไหลกลับไปแม่น้ำบางปะกง เพื่อไหลลงสู่ทะเล และยังพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำใต้ดินบนพื้นที่การเกษตร จำนวน 20,000 ไร่ ในพื้นที่อำเภอองครักษ์และอำเภอเมืองบางส่วน และนอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและประมงที่สำคัญของจังหวัดนครนายก โดยตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ได้มีการปล่อยสัตว์น้ำไปแล้วมากกว่า 20 ล้านตัว ทำให้ราษฎรได้มีแนวทางในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้นนอกจากภาคเกษตร คือการทำประมง และการท่องเที่ยว มีรายได้ที่สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ จากนั้นในช่วงบ่ายคณะองคมนตรี ได้เดินทางไปเยี่ยมและพบปะกลุ่มผู้ใช้น้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำให้บังเกิดประโยชน์สูงสุด และได้สร้างกำลังใจให้กับกลุ่มเกษตรกรในครั้งนี้ สำนักงาน กปร.