กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำระบบบริหารคุณภาพพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการตรวจวินิจฉัย นำข้อมูลหรือผลวิเคราะห์มาใช้ประโยชน์ในการรักษาและควบคุมป้องกันโรคได้อย่างทันต่อสถานการณ์และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานมอบใบรับรองระบบบริหารคุณภาพและประกาศเกียรติคุณห้องปฏิบัติการทางด้านการแพทย์และรังสีวินิจฉัย ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2560 “LAB & X-RAY MOPH STANDARD DAY” ว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาการสาธารณสุขให้คนไทยทุกคนได้รับบริการทางการแพทย์ อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพเท่าเทียมกัน โดยห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และรังสีวินิจฉัยถือเป็นหัวใจสำคัญในการตรวจวินิจฉัย เพื่อนำข้อมูลหรือผลวิเคราะห์มาใช้ประโยชน์ในการรักษาและควบคุมป้องกันโรคได้อย่างทันต่อสถานการณ์ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นองค์กรหลัก ด้านห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขในการพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจของทั้งแพทย์และประชาชน โดยในปีนี้มีความก้าวหน้าขึ้นมาก โดยมีโรงพยาบาลได้รับรางวัลมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น และบางเขตสุขภาพได้รับการรับรองมาตรฐานครบ100% รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และรังสีวินิจฉัยเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการบริการสุขภาพ ดังนั้นห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และรังสีวินิจฉัยต้องเป็นมากกว่าห้องปฏิบัติการทั่วไป (more than laboratory) โดยมีการวิจัยและพัฒนาวิธีการใหม่ๆ จากข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์ และการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ให้สามารถแจ้งผลที่ผิดปกติให้แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยได้อย่างรวดรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย และที่สำคัญต้องมีความยั่งยืนโดยให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐานและสามารถสร้างรายได้โดยไม่เป็นภาระกับองค์กร นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีสถานพยาบาลผ่านมาตรฐานสำหรับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทุกประเภท รวม 831 แห่ง จากทั้งหมด 924 แห่ง คิดเป็นเกือบร้อยละ 90 สำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้การรับรอง รวม 3,239 แห่ง จากทั้งหมด 10,066 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 32 และห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย ได้รับการรับรอง รวมทั้งสิ้น 746 แห่ง จากทั้งหมด 767 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 97 โดยครอบคลุมโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และกรมอนามัย ตลอดจนโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับรางวัล “ผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) ประจำปี 2560 ซึ่งได้คะแนนรวมมากกว่าร้อยละ 95 อีกจำนวน 36 แห่ง