ก.พ.เล็งพัฒนาความสุขราชการไทย 4.0 สสส.- สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ชู 66 องค์กรความสุขภาครัฐ พบแนวโน้มความสุขเพิ่มขึ้น จับตา 1 ใน 3 ข้าราชการไทยเสี่ยง 3 โรคยอดฮิต “ความดัน-ไขมัน-เบาหวาน” พบแนวโน้มออฟฟิตซินโดรม จากสัญญาณภูมิแพ้-ขาดการออกกำลังกาย ชี้ “ความมั่นคง-รายได้และสวัสดิการ” แรงจูงใจดึงคนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบราชการ เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมภาคีเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐ “ความสุขราชการไทย 4.0” โดยมีนางเมธินี เทพมณี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและปาฐกถา “ความสุขราชการไทย 4.0” นอกจากนี้ภายในงานได้มีการมอบรางวัลนักสร้างสุของค์กรดีเด่น โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานมอบรางวัล นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า ประเทศไทย 4.0 สิ่งสำคัญคือต้องทำงานอย่างมีความสุข ราชการ 4.0 ต้องยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ในมาตรา 258 (4) กำหนดให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานภาครัฐ และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามความสามารถ มาตรานี้ทำให้บุคลากรของรัฐมีความหวัง และงานวิจัยมากมายพบว่า งานที่จะเป็นราชการไทย 4.0 ได้ต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ องค์ความรู้ต้องเป็นนวัตกรรมต่อยอด เหมือนบัวพ้นน้ำ ซึ่งก.พ.ดูข้าราชการพลเรือน 4 แสนคน พนักงานของรัฐ 3 ล้านกว่าคน นอกจากความสุขที่เพิ่มขึ้นแล้ว ต้องทำงานมากขึ้นและมีทักษะที่หลากหลายตามความคาดหวังของประชาชน ดังนั้นส่วนราชการต้องปรับปรุงให้สถานที่ทำงานเป็นองค์กรแห่งความสุข เพื่อดึงดูดคนเจนเนอเรชั่นต่างๆในอนาคตที่มีความคิดไม่เหมือนคนยุค 30 ปีที่แล้ว โดยนายกฯมอบหมายให้คำนึงถึงบัญชีเงินเดือนที่หลากหลายเพื่อเลือกเส้นทางของรัฐที่หลากหลาย ไม่ใช่ตามบล็อก รวมทั้งทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่เกษียณเพื่อจับคู่กับงาน เพราะอายุเฉลี่ยคนไทยจากองค์กรอนามัยโลกอยู่ที่ 75 ปี จึงยังมีเวลาทำงานอีก 15 ปี ซึ่งก.พ.ยินดีเป็นเพื่อนร่วมงานเพื่อพัฒนาสู่องค์กรแห่งความสุขของภาครัฐ นางสุวรรณี คำมั่น กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ของการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กรภาครัฐ จำนวน 66 องค์กร ครอบคลุมคนในองค์กรภาครัฐ 120,000 คน และได้พัฒนานักสร้างสุของค์กร กว่า 1,700 คน ให้มีความรู้และมีทักษะการจัดการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืน และขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพที่ตอบโจทย์บริบทของคนในองค์กร ซึ่งพบแนวโน้มความสุขของข้าราชการสูงขึ้น หลังจากที่มีการทำงานเรื่องความสุขทั้ง 8 ประการในองค์กร โดยคนในองค์กรภาครัฐที่ได้เข้าร่วมโครงการมีแนวโน้มความสุขในการทำงานมากขึ้น จากปี 2556 ระดับความสุขในการทำงานอยู่ที่ 36% ในปี 2559 อยู่ที่ 72% การก้าวเข้าสู่สังคม 4.0 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีส่วนสำคัญ ซึ่งการสร้างความสุขให้กับคนในองค์กร นอกจากจะช่วยลดรายจ่ายด้านการดูแลสุขภาพแล้ว ยังส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำงาน สสส. จึงได้ตั้งเป้าหมายทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ เพื่อสร้างความสุขราชการไทย 4.0 ที่มีผลต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้มีสุขภาวะที่ดี ดร. ศิริเชษฐ์ สังขะมาน หัวหน้าโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานและเสริมสร้างศักยภาพองค์กรภาครัฐในระยะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลคนในองค์กรภาครัฐ ในปี 2560 จำนวน 1,912 คน พบว่า 1 ใน 3 ของข้าราชการยังมีความเสี่ยงด้วย 3 โรคที่สำคัญคือ ความดัน ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน ที่น่าสนใจคือ ในปีนี้เริ่มพบแนวโน้มโรคออฟฟิศซินโดรมจากอาการภูมิแพ้ที่มีความถี่สูงขึ้น มีภาวะเนือยนิ่ง ออกกำลังกายน้อย และ 1 ใน 5 มีภาวะความเครียดจากการทำงานในระดับที่สูงส่วนพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่วันนี้ไม่ใช่ปัญหาในระบบราชการ โดยพบว่ามีผู้ที่ดื่มหรือสูบเป็นประจำ 6% ส่วนกลุ่มเจนวายมีถึง 90% ที่ไม่สูบบุหรี่ และมีแนวโน้มภาระหนี้สินมากขึ้น จากปี 2553 ภาระหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านบาท ส่วนปี 2560 ภาระหนี้ขยับมาที่ 1-3 ล้านบาท ซึ่งอันดับ 1 ของภาระหนี้สินคือ ที่อยู่อาศัย 56% ตามด้วยหนี้เงินผ่อนชำระสินค้าและบริการที่สูงถึง 45% ดร. ศิริเชษฐ์ กล่าวว่า ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ อะไรเป็นแรงจูงใจให้คนแต่ละรุ่นเข้ามาอยู่ในระบบราชการ ซึ่งพบว่า กลุ่มเบบี้บูมและกลุ่มเจนเอ็กซ์ มีความเหมือนกัน คือ ความมั่นคง ตามด้วยความรักในอาชีพ ส่วนเจนวาย อันดับ 1 คือ ความมั่นคง ตามด้วยรายได้และสวัสดิการ นอกจากนี้ยังพบว่า สาเหตุที่จะทำให้กลุ่มเจนวายยังคงทำงานต่อในระบบราชการไม่ไปไหน คือ การมองถึงโอกาสความก้าวหน้าและการเลื่อนขั้นตามวาระ จะเห็นได้ว่า ความมั่นคงยังเป็นอันดับ 1 ที่จูงใจให้คนรุ่นใหม่สนใจทำงานในระบบราชการ แต่อย่างไรก็ตามคนรุ่นใหม่มองเรื่องรายได้และสวัสดิการในสัดส่วนที่สูงกว่าความรักในอาชีพ ซึ่งรายได้ในปัจจุบันไม่แตกต่างจากภาคเอกชน ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ภาครัฐแตกต่างและจูงใจคนรุ่นใหม่เข้าทำงาน คือ ความมั่นคงและระบบสวัสดิการ รวมถึงการส่งเสริมศักยภาพชีวิตในการทำงาน