กรมชลฯ เผยปริมาณฝนค่าเฉลี่ยปีนี้ เท่ากับปี54 แต่ยันไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่แน่ เตรียมแก้มลิง 12 ทุ่งภาคกลาง หากมีพายุเข้า ตัดยอดน้ำหลาก 1.6 พันล้านลบ.ม.เท่ากับเขื่อนป่าสัก 2 เขื่อน เร่งลงพื้นที่ทำความเข้าใจชาวนา หลังเก็บเกี่ยวข้าว อย่าปลูกต่อเนื่อง ขอใช้พื้นที่หน่วงน้ำ ระบุนายกฯมาเป็นประธานปล่อยน้ำเข้าทุ่งบ้านแพน อ.เสนา คืนวิถีเกษตรกร 19 ก.ย.นี้ วันนี้ ( 7 ก.ย.60) นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมประชุมกับสำนักงานชลประทาน ที่ 10-11-12 เป็นหน่วยงานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ ณประชุมสำนักงานชลประทาน ที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท นายทองเปลว กล่าวว่า ปริมาณฝนตกทั่วประเทศจนถึงขณะนี้ วัดค่าเฉลี่ยปีนี้ 1,370 มม.เท่ากับปี 2554 และมากว่าปีที่แล้ว 35% โดยภาคเหนือ มีปริมาณ ฝนมากว่า 18% ภาคกลาง 36 ส่งผลระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ล้นตลิ่งเร็วขึ้นในพื้นที่ที่ท่วมประจำ แต่ขอให้สบายใจได้ เพราะปริมาณน้ำลำน้ำเจ้าพระยา ยังไม่มากเท่ากับปี54 ซึ่งมีระดับน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา สูงสุดถึง 2.5 พันลบ.ม.ต่อวินาที เทียบในเวลาเดียวกันปีนี้มีปริมาณ 1.9 พันลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่แบบปี54 แน่นอน เพราะได้เตรียมการณ์ล่วงหน้า สำหรับพื้นที่แก้มลิง 12 ทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ วันที่ 15 ก.ย. ใช้พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ภาคกลางลุ่มเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ไว้ตัดยอดหลาก ได้มากถึง 1.6 พันล้านลบ.ม. ตามนโยบาย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯให้เลื่อนปลูกข้าวเร็วขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวได้ก่อนไม่เกิดความเสียหายเมื่อฤดูน้ำมาถึง และได้ประสบความสำเร็จไปแล้วที่ พื้นที่ทุ่งบางระกำ ใช้เป็นพื้นที่แก้มลิง 2.65 แสนไร่ รับน้ำหลากได้ 400 ล้านลบ.ม.บรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำยม "ปี 54 จะเห็นว่ามีปริมาณน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ ทั่วประเทศมากถึง 77% ปริมาณ 5.4 หมื่นล้านลบ.ม. แต่ปีนี้ 4.8 หมื่นล้านลบ.ม. ซี่งแตกต่างกัน 6 พันล้านลบ.ม. ถ้าหากมีฝนตกด้านเหนือ เขื่อนใหญ่ สามารถรองรับน้ำได้อีกมาก ซึ่ง ปี54 เขื่อนใหญ่ที่มีน้ำกักเก็บ 81 % มีเขื่อน 9 แห่ง ปีนี้ เขื่อนใหญ่มีน้ำ 81 % มีเขื่อน 6 แห่ง รวมทั้งจากการประเมินกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าเดือน ก.ย. มีฝนตก 60% หรือ 300-400 มม.และฝนจะหมดหลังวันที่ 15 ต.ค.โดยกรมชลฯ หน่วยงานด้านน้ำ ร่วมประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ วันที่ 11 ก.ย. และในพื้นที่ร่วมประชุมผู้ว่าทุกจังหวัด ฝ่ายปกครอง วันที่ 12 ก.ย.จัดลำดับ 12 ทุ่ง ขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกข้าวต่อเนื่อง แจ้งพื้นที่ให้ประชาชน เกษตรกร รับรู้ก่อนนำน้ำเข้าทุ่งเมื่อไหร่ จะติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุฯ อย่างเข้มข้น มีพายุ เข้าเมื่อไหร่ จะต้องตัดสินใจ ตัดยอดน้ำจากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด หากมีฝนตกมาซ้ำอีก โดยไม่กระทบบ้านเรือนประชาชน เส้นทางสัญจร รวมถึงไม่กระทบจังหวัดด้านท้ายเจ้าพระยาเช่น ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพ ซึ่งในขณะนี้ต้องลดผลกระทบพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ปัจจุบันแช่มาสองเดือนแล้ว"นายทองเปลว กล่าว นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักชลประทาน 10 กล่าวว่าขณะนี้บางพื้นที่เกี่ยวข้าวแล้ว และวันที่ 19 ก.ย. นายกรัฐมนตรี มาประชุมครมสัญจร ที่จ.พระนครศรีอยุธยา มีกำหนดการจะมาเป็นประธานปล่อยน้ำเข้าทุ่งบ้านแพน อ.เสนา จำนวน 6 พันไร่ โดยกระทรวงเกษตรฯจะปล่อยปลา คืนวิถีชีวิตเกษตรกร ตัดวงจรศัตรูพืช นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน ที่ 12 กล่าวว่าปีนี้ไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่แน่นอน เพราะความสำเร็จ จากการใช้พื้นที่แก้มลิง 1.15 ล้านไร่ ได้จริง ปีนี้ครั้งแรกที่เกิดความร่วมมือจากเกษตรกร ใช้ประชารัฐมาพูดคุยกัน เมื่อปี 54 แก้มลิงนี้ไม่มี และยังเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เป็นพื้นที่หน่วงน้ำอีก "แก้มลิงชะลอน้ำ 1.6 พันล้านลบ.ม. ได้น้ำเท่ากับเขื่อนป่าสัก 2 เขื่อน ไม่ใช่น้อยๆในอดีตไม่เคยทำได้ เพราะการเมือง "นายสุชาติ กล่าว ต่อจากนั้นนายทองเปลว ได้ลงพื้นที่ร่วมเก็บเกี่ยวข้าว อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา และไปพบปะเกษตรกร ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี กล่าวว่าในบริเวณทุ่งเชียงราก 3.8 หมื่นไร่ ขออย่าปลูกข้าวต่อ ควรปลูกอีกรอบเดือน ธ.ค. ให้ปล่อยพื้นที่ไว้รับน้ำนองซี่งจะควบคุมการปล่อยน้ำในระดับ80-1.30 ม.จะไม่มีผลกระทบ นอกจากนี้ฤดูยังอยู่อีก 1 เดือนกว่า อย่าไว้ใจ เพราะฝนตอนนี้มักจะตกท้ายเขื่อน และตกในลุ่มเจ้าพระยาส่วนใหญ่ ซึ่งปีนี้บอกข่าวดี ประเมินว่าวันที่ 1 พ.ย. จะมีปริมาณน้ำจาก4 เขื่อนใหญ่ได้ ถึง1.2 หมื่นล้านลบ.ม. มากกว่าปี แล้วที่มีน้ำ 9.7 พันล้านลบ.ม. ซึ่งชาวนาจะได้ทำนาเร็วขึ้น ด้านนายพินิจ เพ็ญภาค อายุ65 ปี อาชีพทำนา 80 ไร่ กล่าวว่าดีใจมากเกี่ยวข้าวได้หมดฤดูฝนปีนี้ ไม่ได้รับความเสียหายเลย เพราะกรมชลฯมาปรับปรุงประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ได้ติดตั้งเครื่องเดินระบบสูบน้ำสามารถระบายน้ำฝนจากพื้นที่นาโดยเร็ว