โลกหมุนเร็วขึ้น ทำให้ทั่วโลกมีจำนวนของผู้สูงวัยมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของหลายหน่วยงานที่ได้ปรากฏตามสื่อต่างๆ ของโลกพบว่าสัดส่วนผู้สูงอายุปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 25-30 ในส่วนของประเทศไทยปัจจุบันผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนที่ร้อยละ 17 หรือประมาณ 11 ล้านคน อีก 5 ปี หรือปี 2565 สัดส่วนจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 หรือเพิ่มเป็น 13 ล้านคน และจะขยับสัดส่วนเป็น ร้อยละ30 ของประชากรไทยในปี 2578 ทั้งนี้กลุ่มผู้สูงวัยที่สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มที่เติบโตจากคนในยุค “เบบี้บูม” และเป็นที่น่าจับตามองแม้ว่าจะขึ้นแท่นเป็นกลุ่มผู้สูงวัย..แต่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่มีกำลังซื้อสูง ทันสมัย ฉลาด สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ค่อนข้างดี เห็นได้จากการใช้โซเชียวโซเชียลมีเดีย ในการติดต่อสื่อสาร ทั้งกับการทำงาน และชีวิตส่วนตัว จากแนวโน้มดังกล่าว ถือเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มผู้สูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาสินค้าทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมเพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้สูงวัย ซึ่งถ้าเป็นคอนโดมิเนียมจะรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโสด หรือไม่มีลูกหลาน เนื่องจากการดูแลรักษาทำความสะอาดง่ายกว่าการมีบ้าน และไม่มีแนวคิดที่จะอยู่บ้านบางแค ในขณะที่เดียวกันในมุมของภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆพัฒนาบ้านเพื่อผู้สูงวัยแบบครบวงจร ภายใต้ชื่อ “โครงการซีเนียร์ คอมเพล็กซ์” รวมถึงการมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพด้านแรงงานให้กับผู้สูงวัยให้ดูแลตัวเองได้ และไม่เป็นภาระของสังคม เป็นต้น ส่วนโมเดลแรกในประเทศไทยที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับผู้สูงวัย คือ “โครงการสวางคนิเวศ” ที่บางปู โดยสภา กาชาดไทยดำเนินการ เฟสแรกเปิดดำเนินการไปแล้วเมื่อปี2559 และพัฒนาต่อเป็นเฟสที่2 ในชื่อ “สวางคนิเวศ ส่วนต่อขยาย” ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้สูงวัยจำนวนมาก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เปิดเผยในงานบ้าน ธอส.เอ็กซ์โป กรุงเทพฯ ที่ผ่านมาว่า นอกจากการผลักดันโครงการเรื่องบ้านประชารัฐ สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือนแล้ว บ้านพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญของรัฐบาลที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นและอยากเห็นโครงการทั่วประเทศ วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในอนาคตตลาดที่อยู่อาศัยจะเติบโตค่อนข้างมาก ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล เขตภูมิภาคต่างๆ และยังมีกลุ่มอสังหาฯเฉพาะ หรือ นิช มาร์เก็ตที่มีแนวโน้มเติบโตดี คือ กลุ่มผู้สูงวัย โดยรัฐบาลให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งกับสังคมสูงอายุที่กำลังจะมีจำนวนมากขึ้นในระยะเวลาอันเร็วนี้ คาดว่าอีกไม่เกิน 5-6 ปีจำนวนผู้สูงอายุจะสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 อีกประมาณ 10 ปีคาดว่าจะสูงกว่าร้อยละ 20 ดังนั้นเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุจะสามารถขายได้ นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกลุ่มผู้สูงวัยเป็นพิเศษ โดยจะทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยนั้นอยู่ได้ อย่างมีศักศรี อย่างมีประโยชน์ ด้วยการจ้างแรงงาน รวมถึงการทำโครงการซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ ซึ่งรัฐบาลได้ร่วมมือกับโรงพยาบาล,มหาวิทยาลัย, กระทรวงการพัฒนาแรงงานสังคมและมั่นคงของมนุษย์ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบครบวงจรตั้งแต่การอยู่อาศัย สำหรับผู้อยู่อาศัยที่ต้องการฟื้นฟูและพึ่งพิง มีแผนที่จะทำจำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ เฉลี่ยพื้นที่ละประมาณ 100 ไร่ โครงการนำร่องที่บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ในการดำเนินการ มีขนาด 1,000 ยูนิต เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว สำหรับผู้ที่จะมีสิทธิ์อยู่อาศัยได้คือประชาชนทั่วไป อายุ 55 ปีขึ้นไป ส่วนราคาค่าเช่าคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 บาทต่อเดือน “สังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการอสังหาฯ ทั้งโครงการบ้าน และคอนโดมิเนียม ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียม สามารถพัฒนารองรับผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ต้องการใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองไทย”วิสุทธิ์ กล่าว" ด้านผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายค่ายเริ่มให้ความสนใจที่จะพัฒนาโครงการทั้งบ้านเดี่ยว และ คอนโดมิเนียมเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงวัยที่มีกำลังซื้อแล้วเช่นกัน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับศูนย์เวลเนส สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าจากการประเมินการลงทุนเฉพาะโครงการบ้านพักผู้สูงวัยในปัจจุบัน คาดตลาดมีมูลค่า 10,000-20,000 ล้านบาท ไม่นับรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับศูนย์เวลเนส ที่เปิดให้บริการในโรงพยาบาล แต่หากรวมมูลค่ากลุ่มบริการรูปแบบเวลเนส ในลักษณะเดียวกันกับโครงการที่เครือบีดีเอ็มเอส พัฒนาบนที่ตั้งเดิมของโรงแรมปาร์คนายเลิศ จะอาจมีมูลค่าราว 40,000-50,000 ล้านบาท โดยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพขยายตัวได้อีกมาก จากปัจจัยการเข้าสู่สังคมสูงวัยและความต้องการการดูแลในกลุ่มผู้สูงวัย หากประเมินงบลงทุนต่อโครงการเมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยทั่วไปในจำนวนยูนิตที่เท่ากัน มูลค่าการลงทุนที่พักผู้สูงวัยจะสูงกว่าเพราะต้องออกแบบมาตรฐานและจัดแบ่งโซนให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งต้องกำหนดมาตรฐานและคุณภาพสินค้าที่สูงขึ้น สำหรับภาพรวมบ้านพักผู้สูงวัยยังมีขนาดตลาดไม่ใหญ่มากนัก โดยซัพพลายในตลาดยังมีจำนวนน้อย ปัจจุบันมีรายใหญ่ลงทุนพัฒนาโครงการประเภทนี้ 4-5 ราย ดังนั้นช่วง 3 ปีจากนี้คาดว่าจะมีกลุ่มทุนไทยรายอื่นๆ เดินหน้าพัฒนาโครงการบ้านพักผู้สูงวัยกันอย่างต่อเนื่อง โอภาส ศรีพยัคฆ์ โอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า จากการที่บริษัทได้จัดเก็บข้อมูลและสำรวจพฤติกรรมของผู้พักอาศัยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าประชากรในครอบครัวลุมพินีส่วนใหญ่ว่าร้อยละ 89 เป็นกลุ่มคนทำงานที่มีอายุ 21-55 ปี ส่วนผู้สูงวัยอายุมากกว่า 56 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 2 กลุ่มวัยเด็ก 1-10 ปีร้อยละ 2และวัยรุ่น 11-20 ปี ร้อยละ 7 จึงเป็นเหตุให้แบรนด์ “ลุมพินี” รูปแบบใหม่ได้พัฒนาเป็น “ชุมชนน่าอยู่สำหรับผู้สูงวัย” ตามแบบฉบับ “LPN Design” แก่คนทุกวัยภายใต้แนวคิด Universal Design โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงวัย ได้แก่ วัยเด็ก , วัยรุ่นและวัยทำงาน , ผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองได้ นอกจากนี้ยังได้จัดทำทั้งพื้นที่ส่วนกลางและภายในห้องชุดสำหรับผู้สูงวัย ดังนี้ 1. ห้องกิจกรรมผู้สูงอายุ,2. ราวจับเพื่อประคองตัวในห้องน้ำ, 3. วัสดุปูพื้นกันลื่น, 4. ปุ่มฉุกเฉินภายในห้องพัก 2 ปุ่ม, 5. ทางลาดชัน6. วัสดุอุปกรณ์ภายในห้องชุดไม่มีเหลี่ยมมุม และ7. ห้องพยาบาลเบื้องต้น สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับผู้สูงวัยนั้น ได้รับความร่วมมือจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้รองรับผู้สูงที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยจะออกแบบไว้เพื่อใช้ในห้องชุด และพื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น “โครงการลุมพินี วิลล์ ราชพฤกษ์-บางแวก เป็นคอนโดโลวไรส์ในย่านบางแวก มีเนื้อที่ทั้งหมด11-1-94 ตร.ว. มีทั้งหมด 5 อาคาร สูง 8 ชั้น จำนวนห้องชุด 1,085 ยูนิต โดยที่ขนาดห้องชุดเริ่มต้นที่ 22.5-26.50 ตร.ม. มีราคา 48,000 บาทต่อตร.ม. มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ วัยทำงาน และ ผู้สูงวัย” โอภาส กล่าว สมนึก ตันฑเทอดธรรม สมนึก ตันฑเทอดธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. เอ็น.ซี. เฮ้าส์ซิ่ง กล่าวว่า โครงการที่รองรับกลุ่มผู้สูงวัย หากเป็นโครงการบ้าน บริษัททำมาหลายปีแล้วโดยออกแบบฟังชั่นก์บ้านชั้นล่างให้รองรับคนที่เริ่มเข้าสู่อายุสูงวัย หรือคนที่ครอบครัวที่มีผู้สูงวัย จะออกแบบห้องนอนที่เหมาะสม มีห้องน้ำในตัว พร้อมด้วยอุปกรณ์ห้องน้ำที่เหมาะสม แต่ถ้าเป็นที่คอนโดมิเนียมจะนำร่องที่จ.เชียงใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ “ดิอามองต์” คอนโดมิเนียมหหรู สไตร์รีสอร์ท ความสูง 5 ชั้น 77 ยูนิต โดยชั้นล่างจะเป็นชั้นที่ออกแบบรองรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เนื่องจากสะดวกในการเคลื่อนย้ายหากมีปัญหาฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่รองรับผู้สูงอายุ ออกแบบใช้วัสดุให้เหมาะสมการอยู่อาศัยของผู้สูงวัย ปัจจุบันก็มีผู้สูงวัยเข้ามาดูโครงการเรื่อยๆ ราคาเริ่ม 1.9 ล้านบาท สาเหตุที่ไปพัฒนาที่เชียงใหม่เนื่องจากมองว่ามีคนไทยส่วนมากที่คิดอยากมีชีวิตหลังเกษียณจะไปอยู่ที่เชียงใหม่ เพราะอากาศดี ความเป็นอยู่ดี และต้องการซื้อคอนโดมิเนียมมากกว่าบ้านซึ่งดูแลรักษาง่ายกว่า สำหรับโครงการที่จะทำต่อไป คือ คอนโดเนทูเรซ่า พัทยาเหนือ แต่ต้องดูแนวโน้มและความต้องการเสียก่อน “อนาคตการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเพื่อคนสูงวัยของบริษัทจะเน้นทำในชั้น1-2 เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิต และหากมีเรื่องฉุกเฉินสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก แต่บางอย่างเราทำนำไปก่อนเช่นการออกแบบเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายผู้สูงวัย และได้ร่วมมือกับเอสซีจี ที่มีทั้งอุปกรณ์ ระบบที่รองรับทั้งห้องนอนและห้องรับแขก ระบบระบายอากาศ ระบบความปลอดภัย เป็นต้น” นพ.บุญ วนาสิน นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มผู้สูงวัยต่อไปจะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุวัยเกษียณ ทำให้บริษัทเตรียมใช้งบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เปิดตัวโครงการ "จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้" ในคอนเซปต์ Integrate Healthcare มีทั้งที่พักอาศัย เฮลท์แคร์ คลับเฮ้าส์ ค้าปลีก ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุวัยเกษียณ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทย ร้อยละ80 คนต่างชาติร้อยละ 20 โดยคนต่างชาติที่โฟกัสได้แก่ กลุ่มคนญี่ปุ่นที่มาทำงานหรือมาอาศัยในไทยและกลุ่มคนจีนที่สนใจลงทุนอสังหาฯในไทย โครงการดังกล่าว มีพื้นที่ 140 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยโครงการจะแบ่งการดำเนินการเป็น 3 เฟส เริ่มเฟสแรก ที่พักอาศัยแบบ Low-rise 7 ชั้น จำนวน 1,300 ยูนิต ขนาดพื้นที่ 43 ตร.ม. และ 63 ตร.ม. ราคาเริ่มต้น 3.6-6 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีคลับเฮ้าส์ ร้านอาหาร และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เปิดในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561, เฟสที่ 2 จะมีการสร้างอาคารที่พักอาศัยเพิ่มอีก กว่า1,000 ยูนิต และเฟสสุดท้าย โรงพยาบาล จำนวน 400 เตียง “ใน 4-5 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุ 13.5 ล้านคน ภาคเอกชนดูแลได้ประมาณ 900,000 คน กลุ่มธนบุรี วางเป้าหมายดูแลกลุ่มสูงวัยร้อยละ 10 หรือ 90,000 คน ซึ่งถือเป็นตลาด ขนาดใหญ่ที่ยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 5 ปีจากนี้” นพ.บุญ กล่าว