เชื่อหรือไม่ว่าอวกาศอยู่ไม่ไกลคนไทย เรามีว่าที่นักบินอวกาศหญิงคนแรกของประเทศอย่าง "นางสาวพิรดา เตชะวิจิตร์" ที่ผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 23 คนสุดท้าย ในโครงการ แอ็กซ์ อพอลโล สเปซ อคาเดมี (AXE Apollo Space Academy) และวันนี้เราจะได้สร้างเด็กไทยคนต่อๆไป ที่จะเจริญรอยตามรอยเท้ารุ่นพี่ ได้เข้าใกล้ความฝันเหยียบอวกาศ ผ่านโครงการ "ทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย" (Discover Thailand's Astronauts Scholarship Program) ของ "ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ" (U.S. Space and Rocket Center: USSRC) ร่วมกับ บริษัทซิกเนเจอร์ มาร์เก็ตติง จำกัด, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), บริษัท เซนทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) และ Thailand Spaceand Aeronautics Research (TSR) โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดให้มีการชิงทุนด้านการสำรวจอวกาศของรัฐบาลสหรัฐฯ และในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งผู้ชนะจได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปศึกษาวิชาการสำรวจอวกาศเบื้องต้น เป็นเวลา 10 วัน ที่ ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ ในฐานทัพ Redstone Arsenal ของกองทัพสหรัฐฯ เมืองฮันต์สวิลล์ รัฐแอละบามา และยังได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะใดก็ได้ของ สจล.ด้วย "นายกลิน ทาวน์เซนต์ เดวีส์" เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหรัฐฯ ต้องการที่จะแสวงหาความร่วมมือในด้านต่างๆ กับประเทศไทยอยู่แล้ว ตลอดระยะเวลาเกือบ 200 ปี ทั้งสองชาติมีความสัมพันธ์ที่กว้างขวาง และลึกซึ้งในทุกๆ ด้าน ในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ก็ได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมืออย่างชัดเจนเป็นเรื่องที่ต่างให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ และโครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กรุ่นใหม่ในการไปเรียนรู้ได้รับประสบการณ์ที่สำคัญ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวต่อว่า สหรัฐฯ มีความตั้งใจสนับสนุนเป้าหมาย "ประเทศไทย 4.0" อย่างยิ่งซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคนยุคใหม่ให้เข้ามารองรับเป้าหมายดังกล่าว ในศตวรรษต่อไปที่โลกต้องเผชิญความท้าทายหลายอย่าง ทั้งในทางธุรกิจ สิงแวดล้อม และทรัพยากร จะมีวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเท่านั้น จะช่วยในก้าวผ่านความท้าทายได้ ซึ่งคนรุ่นใหม่เป็นทรัพยากรที่มีค่า ที่เราต้องส่งเสริมเรื่อง "STEM" (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ให้พวกเขา นี่เป็นทิศทางที่ดำเนินเหมือนกันทั่วโลก โครงการนี้จะช่วยประเทศไทยในการเติมเต็มเป้าหมายดังกล่าว เพื่อที่จะก้าวไปสู่เทคโนโลยีอุตสาหกรรม ด้าน "นายกฤษณ์ คุนผลิน" ผู้ช่วยรองประธานบริษัทเซนทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และ ผู้แทนสมาคมศิษย์เก่าศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความริเริ่มปูทางสู่อวกาศแก่เด็กไทยว่า เมื่อปี 2558 ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จัดงานนิทรรศการอวกาศระดับโลก โดยเอายานอวกาศจริงๆ จาก "องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ" (นาซา) มาจัดแสดง คาดว่าน่าจะมีผู้เข้าร่วมชมสักประมาณ 7 หมื่นคน แต่ปรากฏว่ามีนักเรียนสนใจเข้าร่วมงานถึง 2.5 แสนคน จึงมาคุยกับสถานทูตสหรัฐฯ ซึ่งสถานทูตได้ให้ทุนลักษณะนี้ในหลายประเทศอย่าง เกาหลีใต้ อินเดีย แต่ยังไม่มีใครทำเรื่องนี้ในประเทศไทย และผู้อำนวยการของ USSRC ก็เดินทางมาที่ประเทศไทย แล้วเจรจากันจนเกิดโครงการนี้ขึ้นมา สิ่งที่พิเศษขึ้นกว่าเดิมคือ ปีที่แล้วเปิดรับสมัครแค่คนไทยอายุไม่เกิน 18 ปี เพราะทางรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งคุณสมบัติเอาไว้ 14 - 18 ปี เป็นคน MARS Generation ซึ่งเป็นแผนของนาซาที่จะกระโดดจากดวงจันทร์ ไปที่ดาวอังคาร แต่ปีนี้ ได้คุยกับทางเสริมสุขว่า มีคนสนใจกันมาก ปีที่แล้วมีประมาณ 1,200 คนส่งใบสมัครเข้ามา แต่จำนวนมากถูกคัดออก เพราะไม่เข้าคุณสมบัติ ไม่ว่าจะอายุเกินบ้าง ไม่ใช่คนไทยบ้าง มีคนจีน คนลาวสมัครมาเยอะมาก ปีนี้เราคิดว่า โลกของเราต้องเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีพรมแดน ทางเสริมสุขจึงขยายโอกาสให้ทุนไปถึงอายุ 30 ปี และไม่จำกัดสัญชาติ วันนี้เรามีความรู้สึกของตัวแทนประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการในปีแรกมาบอกเล่าประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับ ๐ นายธีรเมศ กันต์พิทยา ตนเองสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว และโครงการนี้เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่เพียงแค่ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับนาซา แต่ยังไม่เรียนรู้การนำเอาวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย การเข้าร่วม USSRC CAMP ได้พบเพื่อนจากประเทศต่างๆ มากมาย ได้ลองทำภารกิจหลายอย่างที่ไม่เคยทำ ฝึกการคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และทำงานร่วมกับคนอื่น รับฟังความคิดเห็นคนอื่น ในด้านต่างๆ เพื่อหาทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา ท่ามกลางเพื่อนจาก 30 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นต้น ๐ นางสาวชญานิษฐ์ โอภาสเสรีผดุง สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ และอวกาศมาก ตอนที่ได้ยินโครงการนี้ ก็ตัดสินใจร่วม และยินดีที่ได้รับเลือก เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับตัวเอง ได้แบ่งปันความรู้ พูดคุยเกี่ยวกับความฝันร่วมกัน ได้มีโอกาสถามเพื่อนๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร บางคนบอกว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ บางคนอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร แม้แต่เด็กผู้หญิงหลายคนก็มีความฝันที่อยากทำงานที่ผู้ชายทำ นอกจากนี้ระหว่างที่ไปร่วมยังมีโอกาสได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ อย่างเช่นการดำน้ำลึกด้วย ๐ นายนาวิน งามภูพันธ์ ชอบเรื่องนักบินอวกาศ อวกาศอะไรพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก พอทราบข่าวโครงการนี้ก็ตัดสินใจทันทีสมัครเข้าร่วมทันทีมีเรื่องสนุกมากมายที่นั่น อย่างการดำน้ำนี่ทุกคนต้องทำ เพราะเป็นการจำลองลักษณะสถานการณ์ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรเมื่ออยู่ในอวกาศ ได้ลองทำปฏิบัติการแบบที่นักบินอวกาศทำจริงๆ และตลอดระเวลา 10 วันของการไปอยู่รวมกับเพื่อนๆ จากหลายชาติทำให้ได้เรียนรู้ด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทำงานร่วมกัน พัฒนาการทำงาน พัฒนาความเป็นผู้นำ ที่เราจะสามารถนำเรื่องพวกนี้ไปใช้ในอนาคตได้ "นางสาวพิรดา เตชะวิจิตร์" ว่าที่นักบินอวกาศหญิงคนแรกของประเทศ เธอบอกว่า อวกาศเป็นเรื่องเซ็กซี เวลาฝันถึงมัน และมองขึ้นไปบนฟ้า นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของคนที่จะสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ จึงอยากให้ผู้ที่สนใจ และเข้าคุณสมบัติลองมาสมัครเข้าร่วมโครงการกันเยอะๆ โดยผู้สมัครจะต้องผ่านการสอบ Space Camp Aptitude Test (SCAT) เป็นภาษาอังกฤษในด้าน STEM ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 21 คน เข้าได้เข้าร่วม STEM CAMP ซึ่งที่นั่นจะถือเป็นการคัดเลือกรอบสุดท้ายหาผู้ที่จะได้รับทุนการศึกษาไปร่วม SPACE CAMP ที่สหรัฐฯ โดยผู้ที่มาเข้าร่วมค่ายจะต้องผ่านภารกิจสร้างสรรค์ประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ไม่ใช่แค่คิด หรือคำนวณ แต่ต้องลงมือทำด้วย เพื่อเตรียมตัวก่อนที่จะไป SPACE CAMP "อวกาศอยู่ไม่ไกลคนไทย แม้อวกาศจะไม่มีอากาศ ทว่าบนนั้นมีโอกาส"