กฟผ. ชวนทำดีปลูกป่าชายเลน สานต่อพระราชปณิธานงานของพ่อ โครงการ นำคณะจิตอาสา “คนดีของพ่อ” ทำความดี ร่วมสานต่อพระราชปณิธานงานของพ่อโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เติมเต็มความสมบูรณ์ อนุรักษ์ฟื้นฟูป่า พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริผ่านโครงการชีววิถีทั่วประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมปลูกป่า ที่วางไว้ในปี2560นี้ 4 เส้นทาง จากจุดแรกปลูกป่าที่เขื่อนภูมิพล เส้นทางต่อมาจิตอาสาร่วมไปทำความดีปลูกป่าที่จังหวัดน่านหนนี้เลาะเส้นทางดูแลและปลูกป่าชายเลนภาคตะวันออก จากปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ถึง อ่าวคุ้งกระเบน และลุ่มน้ำเวฬุ จ.จันทบุรี พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านนวัตกรรมปลูกป่าชายเลนเมื่อวันที่ 1 - 3 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. บอกย้ำว่า ในปี 2560 กฟผ. ได้จัดกิจกรรมน้อมสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในโครงการ สืบสานพระราชปณิธานงานของพ่อ 4 เส้นทาง และครั้งนี้เป็นเส้นทางที่ 3 โดยได้เชิญชวนประชาชนจิตอาสารวมถึงเยาวชน“คนดีของพ่อ” จากสื่อพันธมิตรเพื่อไปร่วมทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล “เราร่วมกันไป เติมเต็มความสมบูรณ์ อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมปลูกป่าชายเลนสืบสานพระราชดำริ ในเส้นทางดูแลป่าชายเลนภาคตะวันออก เริ่มตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ถึงลุ่มน้ำเวฬุ จ.จันทบุรี”นายธาตรี ริ้วเจริญกล่าว การร่วมเดินทางไปในคราวนี้กฟผ.นำคณะจิตอาสาทำความดีสืบสานพระราชปณิธานตรงไปเรียนรู้ระบบนิเวศบนเกาะนก พื้นที่ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเกาะกลางปากน้ำบางปะกงที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์เอื้อต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ เช่น ปลาดุกทะเล ซึ่งเป็นอาหารหลักของโลมาอิรวดีที่มีชุกชุมบริเวณปากน้ำบางปะกง เป็นต้น โลมาอิรวดีเป็นจุดเด่นสำคัญด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ของท้องถิ่นนี้คือเมื่อย่างเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวฝูงโลมาอิรวดีจะพากันเข้ามาสูปากน้ำย่านท่าข้ามที่ปลาดุกทะเลอาหารโปรดชุกชุมมาก โดยชาวตำบลท่าข้ามทุกผู้คนรวมหัวใจปกปักษ์รักษาสภาพแวดล้อมอย่างเต็มกำลัง แม้ในส่วนที่เกิดอันตรายด้วยผลพวงทางธรรมชาติอาจจะป้องกันลำบากเหลือเกินก็ย่อท้อทั้งนี้เพื่อเป็นการร่วมสืบสานพระราชปณิธานงานของพ่อด้านการอนุรักษ์ป่าและน้ำทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เป็นมรดกของแผ่นดินสืบไปด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงนำประชาชนคนไทยได้สำนึกถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยคณะจิตอาสาได้เรียนรู้ระบบนิเวศที่ได้รับการฟื้นฟูโดยโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ กฟผ. ที่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ฟื้นฟูและอนุรักษ์จนกลายเป็นป่าที่สมบูรณ์ในปัจจุบัน และคณะยังได้เยี่ยมชมธนาคารกล้าไม้ป่าชายเลนตามรอยพ่อ และการปลูกไม้ ป่าชายเลนที่ใช้กล้าไม้ที่เพาะด้วยกระบอกไม้ไผ่ นวัตกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้านสู่การเพาะปลูก เพื่อลดปัญหาขยะจากถุงดำที่ติดมากับกล้าไม้ ทำให้อัตราการเจริญเติบโตมีมากขึ้น และไม้ไผ่สามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ที่ปลูกอีกด้วยทำให้ไม่เกิดมลภาวะ หลังชื่นชมป่าชายเลนที่ถูกฟื้นฟูจนอุดมสมบูรณ์อีกครั้งด้วยโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติและร่วมกันปลูกไม้ชายเลนเช่นโกงกาง ตะบูนเป็นต้นแล้วคณะจิตอาสามีโอกาสไปเยี่ยมชมชุมชนวัดเขาดิน ต.เขาดิน อ.บางปะกง ศูนย์รวมใจรวมการปลูกฝังการทำความดี เพื่อเรียนรู้การพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากนั้นไปเยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าสีเขียวในโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีมัคคุเทศก์น้อยซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่พาชมโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะเรียนรู้โครงการเลี้ยงปลาในระบบ น้ำทิ้งของโรงไฟฟ้าบางปะกงที่ผ่านร่องน้ำภายใน เช่น ปลาอีกง(ปลาแขยง) ซึ่งเป็นปลาประจำถิ่นของแม่น้ำบางปะกงที่ได้รับการอนุรักษ์ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นปลาที่ค่อนข้างหายากแล้วในแหล่งน้ำธรรมชาติ อาศัยอยู่ในน้ำจืดและน้ำกร่อย รวมถึงได้ไปสัมผัสการเสริมต้นไม้ในพื้นที่โรงไฟฟ้าบางปะกงเป็นแม่แบบจูงใจให้ชาวชุมชนได้ซึมซับถึงความสำคัญในการสร้างชุ่มชื้นและความร่มรื่นรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าสีเขียวในโรงไฟฟ้าบางปะกงที่น้อมนำเอาแนวพระราชดำริเรื่องการรักษาดูแลสภาพแวดล้อมที่มาประยุกต์พัฒนา เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนประชาชนที่สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนของตนเองได้ ออกจากพื้นที่ป่าชายเลนบางปะกง ฉะเชิงเทรา คณะจิตอาสาได้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ต้นแบบการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนตามแนวพระราชดำริที่สามารถทำให้ป่าชายเลนบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนที่เคยเสื่อมโทรม กลับมาอุดมสมบูรณ์ ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติชายเลนที่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งอาศัยดำรงชีวิตแบบพอเพียงของชาวชุมชนเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของภาคตะวันออกในปัจจุบัน และเป็นแหล่งการเรียนรู้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป คณะจิตอาสายังได้ร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนบริเวณลุ่มน้ำเวฬุ จ.จันทบุรี ในพื้นที่ป่าปลูกที่ กฟผ. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์มาขยายผลฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อสร้างชีวิตและสร้างอาชีพให้กับชุมชนประมงชายฝั่งที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ได้ทำมาหากินแบบคนอยู่กับป่าป่าอยู่กับคนเอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างลงตัว โดยในปี 2560 กฟผ. ตั้งเป้าหมายปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 3,000 ไร่ ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลนร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนปากน้ำเวฬุ ที่มีความเสื่อมโทรมในพื้นที่จ.จันทบุรี มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน รวมพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในเส้นทางสุดท้าย ซึ่งจะจัดขึ้นในจ.กระบี่ สามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/egatreforest