พบข้อมูลล่าสุด ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส ที่นาซ่าหวาดหวั่นด้วยขนาดมหึมาใหญ่กว่าตึกเอ็มไพร์สเตต อานุภาพหากชนโลกจะเทียบทีเอ็นทีกว่าพันล้านตัน หรือเทียบระเบิดนิวเคลียร์บอมบ์ฮิโรชิม่าหลายหมื่นลูก ได้ไกลโลกออกไป ทำให้จากที่คาดการณ์โอกาสจะชนโลกได้ในปี 2611 ไม่มีทางเป็นไปได้ และโล่งยาวไปเป็นรอบ 100 ปี เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสไม่ชนโลกไปอีกอย่างน้อย 100 ปี โดยจุดเล็กๆ ที่ลูกศรชี้ในภาพนี้ คือ ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส (99942 Apophis) ที่ถูกบันทึกภาพเอาไว้โดยกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (หอดูดาวแห่งชาติ) ยอดดอยอินทนนท์ ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส (99942 Apophis) ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2547 โดยหอดูดาวแห่งชาติคิตพีค (Kitt Peak National Observatory) เป็นดาวเคราะห์น้อยรูปทรงคล้ายลูกรักบี้ มีความยาวประมาณ 450 เมตร ครั้งหนึ่งเคยเปรียบเป็น “ดาวเคราะห์น้อยวันโลกาวินาศ” เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์น้อยเพียงดวงเดียว ที่เคยมีระดับ Torino scale (วัตถุท้องฟ้าที่จะสามารถทำอันตรายให้กับโลก) ขึ้นมาถึงระดับ 4 และปัจจุบันยังจัดเป็นดาวเคราะห์น้อยที่เคยใกล้เคียงที่จะนำมาซึ่งวัน “โลกาวินาศ” มากที่สุด เท่าที่เคยพบมา สาเหตุที่ดาวเคราะห์น้อยนี้ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง สืบเนื่องมาจากวงโคจรของมันที่ตัดผ่านวงโคจรของโลก และมีโอกาส “เฉียด” เข้ามาใกล้โลกพอสมควรในหลายๆ ครั้ง ซึ่งวิธีหนึ่งที่นักดาราศาสตร์ใช้ประเมินความเสี่ยงของวัตถุท้องฟ้าที่จะสามารถทำอันตรายให้กับโลกได้ ก็คือการประเมินความเสี่ยงผ่านทาง Torino scale โดยยิ่งวัตถุที่มีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะชนเข้ากับโลกสูงเท่าใด ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันวัตถุที่มีขนาดเล็กและสามารถสร้างความเสียหายได้ไม่มากอาจจะมีความเสี่ยงใน Torino scale ไม่มาก แต่ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ที่สามารถนำมาซึ่งวันโลกาวินาศที่มีโอกาสจะชนโลก ก็จะมี Torino scale ที่มากขึ้น (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Torino scale ได้จากหนังสือ “อุกกาบาตผู้มาเยือนจากนอกโลก” http://narit.or.th/index.php/astro-media-book-menu) ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าตึก Empire State ของมหานครนิวยอร์ก หากเกิดการชนกันกับโลก ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสนี้จะสามารถปลดปล่อยพลังงานเทียบเท่ากับระเบิด TNT 1,200 ล้านตัน หรือเทียบเท่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งลงไปในฮิโรชิมาและนางาซากิรวมกันกว่าสามหมื่นลูก ด้วยขนาดและพลังงานอันมหาศาลนี้จึงทำให้ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสนี้เป็นที่น่าจับตาดูของนักดาราศาสตร์ไปโดยปริยาย จากการคำนวณวงโคจรเบื้องต้น พบว่าดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสนี้จะเฉียดเข้ามาใกล้กับโลกเป็นอย่างมากในวันที่ 13 เมษายน 2029 (พ.ศ. 2572) ความไม่แน่นอนในวงโคจรที่วัดได้ในช่วงแรกนั้น ทำให้นักดาราศาสตร์จาก NASA รายงานความเป็นไปได้ที่อะโพฟิสอาจจะชนเข้ากับโลกถึง 1 ใน 233 จึงทำให้ค่าความเสี่ยงใน Torino scale ของอะโพฟิสยกขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2 ซึ่งนับเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงแรกที่มีค่า Torino scale มากกว่า 1 และในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ความไม่แน่นอนในการศึกษาวงโคจรทำให้อะโพฟิสมีค่า Torino scale ขึ้นไปถึง 4 จึงนับเป็นวัตถุที่ถูกประเมินค่า Torino scale สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการศึกษากันมา อย่างไรก็ตาม การสังเกตการณ์ที่แม่นยำมากขึ้น และเวลาที่ผ่านไป ทำให้เราทราบความน่าจะเป็นของวงโคจรของอะโพฟิสได้ดีขึ้น และสามารถยืนยันได้ว่าไม่มีโอกาสที่อะโพฟิสจะชนเข้ากับโลกในวันที่ 13 เมษายน 2029 อีกต่อไป และค่า Torino scale ของอะโพฟิสปัจจุบันจึงลดระดับกลับลงมาเป็นศูนย์อีกครั้งหนึ่ง แม้กระนั้นก็ตาม ในวันที่ 13 เมษายน 2029 อะโพฟิสก็จะเฉียดเข้าใกล้โลกเป็นอย่างมาก โดยช่วงที่ใกล้โลกที่สุดจะอยู่ห่างออกไปเพียง 38,000 กม. โดยจะเฉียดเข้ามาใกล้มากกว่าวงโคจรของดวงจันทร์ หรือแม้กระทั่งดาวเทียมค้างฟ้า และในช่วงนั้นอะโพฟิสจะมีโชติมาตรปรากฏอยู่ที่ 3.1 ซึ่งนับเป็นความสว่างมากพอที่จะสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ อย่างไรก็ตาม เดิมมีการคาดกันว่า อะโพฟิสยังคงมีโอกาสพุ่งชนโลกในอีก 48 ปี ในวันที่ 12 เมษายน 2068 (พ.ศ. 2611) ด้วยโอกาส 1 ใน 150,000 ทำให้นักดาราศาสตร์ยังคงต้องเฝ้าสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ต่อไป โดยเฉพาะในการเฉียดเข้ามาใกล้โลกในปี 2029 ซึ่งหากอะโพฟิสโคจรผ่านเข้ามาในบริเวณที่เรียกว่า “รูกุญแจ” (gravitational keyhole) แรงโน้มถ่วงของโลกอาจจะเบี่ยงวงโคจรของอะโพฟิสไป ทำให้โอกาสที่จะชนกันในปี 2068 อาจจะเพิ่มมากขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 นี้ ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส ได้โคจรเข้ามาใกล้โลกอีกครั้งหนึ่ง ที่ระยะประมาณ 44 เท่าของวงโคจรของดวงจันทร์ ทำให้นักดาราศาสตร์ได้มีโอกาสสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส โดยในวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมากลุ่มนักเรียนในโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ณ หอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ และได้เก็บข้อมูลภาพถ่ายของดาวเคราะห์น้อยอะโฟฟิส โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกใช้วิเคราะห์ในการคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส ร่วมกับนักวิจัยนานาชาติต่อไป ความท้าทายอย่างหนึ่งของการวัดตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อย เช่น อะโพฟิสนี้ ก็คือการวัดระยะห่างจากโลกอย่างแม่นยำที่ทำได้ค่อนข้างยาก ซึ่งวิธีหนึ่งที่แม่นยำที่สุด ก็คือการใช้จานดาวเทียมขนาดใหญ่ส่งสัญญาณคลื่นวิทยุยิงไปยังดาวเคราะห์น้อย แล้วรอฟังสัญญาณที่สะท้อนออกมา ซึ่งการเสียหายของหอสังเกตการณ์คลื่นวิทยุอะเรซิโบในวันที่ 1 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา ทำให้นักดาราศาสตร์ได้สูญเสีย “ดวงตา” ที่สำคัญดวงหนึ่งในการศึกษาดาวเคราะห์น้อยเช่นนี้ ภาระหน้าที่ในการสังเกตจึงตกไปอยู่กับ จานดาวเทียมขนาด 70 เมตร ณ Goldstone Deep Space Communications Complex ที่รัฐแคลิฟอร์เนียแทน และผลจากการติดตามศึกษาอะโพฟิสติดต่อกันถึง 12 วันในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เราพบว่าอะโพฟิสจะเฉียดเข้าใกล้โลกในปี 2029 ไกลกว่าที่คาดการณ์กันไว้แต่เดิม 288 เมตร ทำให้สามารถยืนยันได้ว่า โอกาสในการชนกันในปี 2068 (พ.ศ. 2611) นั้นเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป และไม่มีโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะชนเข้ากับโลกไปอีกอย่างน้อย 100 ปี อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์น้อย เช่น อะโพฟิส นี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการศึกษาและติดตามการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (near-Earth Asteroids) อย่างต่อเนื่อง และอุปกรณ์เช่นกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร ณ หอดูดาวแห่งชาติ กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 40 เมตร ที่ห้วยฮ่องไคร้ รวมไปถึงกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร บนยอดดอยอินทนนท์ภายใต้ “โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ” จะเป็นดวงตาดวงหนึ่งที่จะช่วยมนุษย์บนโลกให้สามารถติดตามและเฝ้าระวังภัยอันตรายที่อาจจะนำมาสู่โลกของเราในอนาคตได้ เรียบเรียง : ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ - นักวิจัย สดร. / ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์