นายกฯ เผยยังไม่มีกำหนดวันปิดเข้ากราบพระบรมศพ ในหลวง ร.9 ระบุวันหยุดราชการแค่ 26 ต.ค.วันเดียว ย้ำความร่วมมือสถานบันเทิงในช่วงวันสำคัญ เผยสร้างพระเมรุมาศจำลองทั่วประเทศคืบหน้า ยันเสร็จทัน 15 ต.ค. วันที่ 12 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงกรณีที่ยังมีความสับสนเกี่ยวกับกำหนดการเปิดให้ประชาชนเข้ากราบสักการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า ต้องรอให้มีพระราชวินิจฉัยลงมา แต่ขณะนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ากราบสักการพระบรมศพฯไปได้ตลอด ทั้งนี้ตนเห็นใจประชาชนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าในช่วงใกล้วันจะประกอบพระราชพิธีดังกล่าว คงต้องมีกำหนดเวลาสำหรับการซักซ้อมและเตรียมการต่างๆบ้าง แต่ตนยังไม่รู้ว่าส่วนนี้จะใช้เวลานานเท่าไหร่ โดยเป็นเรื่องขั้นตอนของการเตรียมการของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ สำหรับการประกาศวันหยุดราชการในช่วงงานพระราชพิธีดังกล่าวยังมีวันเดียว คือวันที่ 26 ต.ค.2560 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ยังไม่ได้พิจารณาการประกาศวันหยุดราชการเพิ่มเติม โดยต้องดูสถานการณ์ต่างๆด้วย เมื่อถามว่า รัฐบาลจะออกประกาศข้อปฏิบัติหรือการขอความร่วมมือจากสถานบันเทิงในช่วงงานพระราชพิธีดังกล่าวหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าได้เคยมีการหารือเรื่องนี้ไปแล้วในที่ประชุมครม.และคณะกรรมการอำนวยการจัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพฯแล้วว่า ให้มีการขอความร่วมมือจากสถานประกอบการและสถานบันเทิงต่างๆ ซึ่งทุกคนคงทราบดีว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงงานพระราชพิธีดังกล่าว ในการถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ดังนั้น ไม่เห็นว่าจะต้องบังคับอะไรมากมาย ทุกคนต้องรู้อยู่แล้วว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันเวลาที่เราทุกคนเสียใจ รู้สึกใจหายเพราะอีกไม่กี่วันก็จะถึงเดือน ต.ค.แล้ว ถึงครบ 1 ปี พวกเราคนไทยทั้งประเทศก็คงรู้สึกใจหายเช่นกัน ดังนั้น ใครที่เป็นคนไทยก็ต้องคิดด้วย อย่าให้สั่งกันมากนักเลย พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลอง ว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณและวางแบบการก่อสร้างแล้ว ซึ่งตอนนี้มีความคืบหน้ามาก โดยจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ทั้งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ดำเนินการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองทั่วประเทศ เนื่องจากทรงห่วงใยประชาชนจำนวนมากที่จะต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ จึงทรงมีพระราชวินิจฉัยให้จัดสร้างพระเมรุมาศจำลองที่พระลานพระราชวังดุสิตและใน 4 มุมเมืองของกรุงเทพฯ รวมถึงอีก 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง โดยให้จัดสร้างพระเมรุมาศจำลองขนาดมาตรฐานเดียวกัน เพียงแต่วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้อาจมีความแตกต่างกันไปเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องการใช้งบประมาณสำหรับการดำเนินการดังกล่าวด้วย